แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะมีพยานบุคคลเพียงปากเดียว แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร โจทก์ทั้งหกยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าจำเลยหรือคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่าขั้นตอนในการออกสิทธิบัตรของพนักงานเจ้าหน้าที่มีความบกพร่อง จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โจทก์ทั้งหกจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมตกเป็นพับแล้ว ก็ไม่อาจพิพากษากำหนดให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 161 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีหกสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งหกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24246, 24247, 24248, 24249 และ 24250 ของจำเลยไม่สมบูรณ์ และเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวนั้นเสีย
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24246, 24247, 24248, 24249 และ 24250 ชื่อผลิตภัณฑ์ “หน้าตัดโลหะ” ของจำเลยไม่สมบูรณ์ กับให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24246, 24247, 24248, 24249 และ 24250 ของจำเลยเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24246, 24247, 24248, 24249 และ 24250 เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ โจทก์ทั้งหกมีพยานบุคคลจำนวน 6 ปาก ได้แก่ นายอมรชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 1 นายสุพัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 และรองกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 2 นายจำลอง กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ที่ 6 นายสุรศักดิ์ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ที่ 4 นายจักรวิชญ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 และ นายวิหค กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ที่ 5 และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 5 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งหกออกแบบผลิตภัณฑ์ (Drawing Designs) จัดทำสร้างแม่พิมพ์ และทำการผลิตโลหะอะลูมิเนียมในรูปร่างลักษณะต่าง ๆ กัน ซึ่งมีรูปลักษณะของหน้าตัดโลหะอะลูมิเนียมตามแบบผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบไว้เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยโจทก์ทั้งหกประกอบธุรกิจการค้ามานานตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทในปี 2534 (ที่ถูก ปี 2531) ปี 2527 ปี 2523 ปี 2529 ปี 2534 (ที่ถูก ปี 2533) และปี 2543 ตามลำดับ โจทก์ทั้งหกออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลิต รับจ้างผลิต ใช้ ขายหรือจำหน่าย มีไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายซึ่งสินค้าอย่างแพร่หลาย ตลอดจนดัดแปลง ประกอบ ติดตั้งในหลายลักษณะ การดัดแปลง ประกอบ และติดตั้งโลหะอะลูมิเนียมซึ่งเป็นที่นิยม ได้แก่ การนำโลหะอะลูมิเนียมมาใช้เป็นส่วนประกอบโครงสร้างหลักของประตูหน้าต่างอาคาร และนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของรถยนต์บรรทุกขนาดหนึ่งตัน และหรือรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อ ในส่วนของด้านข้าง ด้านหลัง และส่วนพื้นรถยนต์และรถพ่วง โดยนำมาใช้แทนไม้ นอกจากบริษัทโจทก์ทั้งหกแล้วมีบริษัทอื่นๆ ซึ่งออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตรีดโลหะอะลูมิเนียมเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งหก เช่น บริษัทแอลแคนไทย จำกัด (Alcan Thai) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทแอลเม็ทไทย จำกัด (Almet Thai) บริษัทมหานครเมททอล จำกัด และบริษัทเอ็ม.ที.อลูเม็ท จำกัด ผลิตภัณฑ์อาจมีความคล้ายคลึงกันหรืออาจจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในส่วนของขนาดลวดลาย และสี ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค รวมถึงความแข็งแรงทนทานในการนำไปใช้งานตามวัตถุที่ประสงค์ แบบผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมหน้าตัดที่มีผู้ออกแบบและคิดขึ้นใช้ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรและเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตและใช้แพร่หลายทั่วไปในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ประมาณปี 2525 และยังคงใช้อย่างแพร่หลายอยู่ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันส่วนจำเลยมีนายสรายุทธ นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตร ระดับปฏิบัติการสังกัดสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานมีหน้าที่ตรวจสอบความใหม่เมื่อผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมาขอตรวจสอบแบบผลิตภัณฑ์ว่ามีความใหม่หรือไม่ เมื่อจำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ พยานตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่า เป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่จึงเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต่อมาอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตให้ออกสิทธิบัตรแก่จำเลยได้ เห็นว่า แม้จำเลยจะมีพยานบุคคลเพียงปากเดียว แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร โจทก์ทั้งหกยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าจำเลยหรือคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่าขั้นตอนในการออกสิทธิบัตรของพนักงานเจ้าหน้าที่มีความบกพร่อง จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โจทก์ทั้งหกจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่โจทก์ทั้งหกกลับไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งหกดังกล่าว คงมีเพียงพยานบุคคลจำนวนหกปากซึ่งล้วนแต่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทหรือผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งหกซึ่งมีส่วนได้เสียกับโจทก์ทั้งหกจึงต้องรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ทั้งหกด้วยความระมัดระวัง และพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานจากเอกสารที่โจทก์ทั้งหกอ้างอิง ในส่วนของโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งหกมีนายอมรชัยกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 1 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานโดยกล่าวอ้างรวม ๆ ว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอของจำเลยคล้ายคลึงกับแบบผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ที่ 1 และบุคคลอื่นเป็นผู้ออกแบบและใช้มาก่อนนานแล้ว โดยไม่ได้เจาะจงว่าบุคคลอื่นหมายถึงบุคคลใด และพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเลขที่ 094372 มีรูปแบบตรงกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารเลขที่ เอฟ 1805 จึงต้องถือว่าสำเนาแบบผลิตภัณฑ์ที่อ้างส่งตามเอกสาร จำนวน 5 แบบ เกี่ยวข้องกับจำเลยเฉพาะแบบผลิตภัณฑ์หมายเลข เอฟ 1805 ตามเอกสาร แผ่นที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกับภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรแล้ว ปรากฏว่าแตกต่างกัน ส่วนภาพถ่ายแม่พิมพ์และหนังสือ “The World of Aluminium” ของโจทก์ที่ 1 ไม่ปรากฏวันเดือนปีที่สร้างแม่พิมพ์หรือวันเดือนปีที่จัดทำหนังสือ จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ พยานโจทก์ที่ 1 ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ดังที่พยานเบิกความ ในส่วนของโจทก์ที่ 3 โจทก์ทั้งหกมีนายจักรวิชญ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งห้าคำขอเหมือนหรือคล้ายคลึงกับแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ อันหมายถึงโจทก์ที่ 3 ซึ่งได้ออกแบบไว้นานแล้วเพื่อรีดอะลูมิเนียมรูปหน้าตัด และเหมือนหรือคล้ายคลึงกับแบบผลิตภัณฑ์ของบุคคลภายนอกทั่วไปซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ที่ 3 หรือบริษัทอื่น ๆ ให้ผลิต และเหมือนหรือคล้ายคลึงกับแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่น ๆ โดยโจทก์ที่ 3 ไม่ได้เจาะจงให้ชัดเจนว่าบุคคลภายนอกหรือบริษัทอื่น ๆ นั้น หมายถึงบุคคลใดหรือบริษัทใด อีกทั้งบริษัทที่โจทก์ที่ 3 ระบุชื่อหลายบริษัท เช่น บริษัทมหานครเมททอล จำกัด บริษัท แอลแคนไทย จำกัด และบริษัทซุ่นชัยอินดัสตรี้ จำกัด รวมทั้งบริษัทโจทก์อื่นด้วย จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ แต่ในส่วนของแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 3 เอง มีการอ้างส่งสำเนาแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ. 46 รวม 13 แบบ และ จ. 47 รวม 10 แบบ ซึ่งมีทั้งแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เมื่อพิจารณาข้อความตามบันทึกแล้ว แบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มีเพียง 6 แบบ คือ แบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 3 เลขที่ 27114 เลขที่ 27115 เลขที่ 27128 เลขที่ 27135 เลขที่ 27140 และเลขที่ 27141 แม้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะระบุวันที่ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ แต่โจทก์ทั้งหกยังต้องมีหน้าที่พิสูจน์ต่อไปว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 3 ดังกล่าวเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรหรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้ว ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ เพราะลำพังการที่โจทก์ทั้งหกมีแบบผลิตภัณฑ์ไว้ในครอบครองไม่ได้แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์นั้นมีหรือใช้แพร่หลายหรือเป็นเอกสารที่มีการเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ แต่โจทก์ที่ 3 ไม่มีเอกสารหลักฐานอื่นสนับสนุนว่าโจทก์ที่ 3 ได้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ รวมทั้งไม่มีภาพผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาสินค้าใด ๆ ที่แสดงว่าจัดทำขึ้นก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 ดังกล่าว สำหรับสำเนาใบส่งสินค้าชั่วคราว ซึ่งเป็นหลักฐานที่โจทก์ที่ 3 จำหน่ายสินค้าให้แก่บริษัทอัล-ฟาบ จำกัด ลูกค้านั้น ปรากฏว่าเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นในปี 2551 ซึ่งเป็นภายหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 3 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรหรือได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ ดังนั้น แบบผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ที่ 3 จึงเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารภายในของโจทก์ที่ 3 และไม่มีข้อเท็จจริงที่จะยืนยันว่าบุคคลอื่นทราบการมีอยู่ของแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 3 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร หรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ ในส่วนของโจทก์ที่ 4 โจทก์ทั้งหกมีนายสุรศักดิ์กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ที่ 4 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงของพยานว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 0402002687 เลขที่ 0402002692 และเลขที่ 0402002693 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายอยู่แล้วก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตร โดยพยานเปรียบเทียบกับแบบผลิตภัณฑ์หน้าตัดโลหะหรือ “แผนกล่อง” ของบริษัทโจทก์ที่ 4 แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการผลิตวัตถุพยานดังกล่าวขึ้นเมื่อใด ภาพถ่ายแบบแม่พิมพ์ผลิตภัณฑ์หน้าตัดโลหะอะลูมิเนียมของโจทก์ที่ 4 ที่โจทก์ทั้งหกอ้างส่งศาลก็มิได้ระบุวันที่ผลิต ส่วนสำเนาแบบผลิตภัณฑ์หน้าตัดโลหะอะลูมิเนียมของโจทก์ที่ 4 ระบุวันที่ออกแบบในปี 2550 ภายหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ คำเบิกความของนายสุรศักดิ์พยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ดังที่พยานเบิกความ คำเบิกความส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้เช่นเดียวกัน ในส่วนของโจทก์ที่ 5 โจทก์ทั้งหกมีนายวิหค กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 5 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอมีความคล้ายคลึงกับแบบผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ที่ 5 และหรือบุคคลอื่นได้เป็นผู้ออกแบบและคิดขึ้นใช้มาก่อนนานแล้ว แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าบุคคลอื่นหมายถึงบุคคลใด ส่วนแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ซึ่งหมายถึงแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 5 จำนวน 2 แบบ และแบบผลิตภัณฑ์ที่เขียนด้วยมือจำนวน 2 แบบ แม้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะระบุวันที่ออกแบบเป็นวันที่ 23 เมษายน 2542 และวันที่ 19 มกราคม 2533 ตามลำดับ ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ แต่เมื่อแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในความครอบครองของโจทก์ที่ 5 โดยไม่มีข้อเท็จจริงอื่นที่สนับสนุนว่าบุคคลอื่นทราบการมีอยู่ของแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 5 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรหรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ส่วนภาพถ่ายแม่พิมพ์ แผ่นที่ 1 ภาพบนและแผ่นที่ 2 ภาพบน ซึ่งปรากฏตัวเลข 12/3/47 และ 13-2-33 ตามลำดับนั้น นายวิหคไม่ได้เบิกความใด ๆ ประกอบภาพถ่ายดังกล่าว จึงไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าตัวเลขดังกล่าวหมายถึงวันเดือนปีที่ผลิตแม่พิมพ์หรือไม่ ภาพด้านบนกับภาพด้านล่างเป็นแม่พิมพ์อันเดียวกันหรือไม่ ภาพถ่ายแม่พิมพ์ดังกล่าวจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนว่าแบบผลิตภัณฑ์ มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ สำหรับหนังสือรวมแบบของโรงงานไทยถาวรโลหะภัณฑ์ แฟ้ม “Aluminium Extruded Profiles” ของโจทก์ที่ 5 และหนังสือ “Aluminium Extruded Profiles” ของโจทก์ที่ 5 ไม่ระบุวันเดือนปีที่จัดทำ เอกสารดังกล่าวจึงขาดสาระสำคัญในเรื่องเวลาที่จะแสดงว่าเป็นเอกสารซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ ส่วนนิตยสาร “Reside Residence in Style” พิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 หลังจากวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นเอกสารที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอในส่วนของโจทก์ที่ 6 โจทก์ทั้งหกมีนายจำลอง กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ที่ 6 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งห้าคำขอเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีบุคคลอื่นเป็นผู้ออกแบบขึ้นใช้มาก่อนจำเลยนานแล้ว แต่พยานไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นแบบผลิตภัณฑ์ของบุคคลใด ส่วนสำเนาแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 6 ที่โจทก์ทั้งหกอ้างส่งศาลนั้น บางแบบระบุวันที่เขียนแบบภายหลังวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ บางแบบไม่ระบุวันที่ใด ๆ คำเบิกความของนายจำลองพยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 6 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าคำขอ อย่างไรก็ดี พยานโจทก์ทั้งหก ในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีความแตกต่างจากพยานโจทก์ทั้งหกปากอื่น โดยโจทก์ทั้งหกมีนายสุพัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยเลขที่ 0402002692 มีบุคคลอื่นเป็นผู้ออกแบบและใช้มาก่อนนานแล้ว และโจทก์ทั้งหกอ้างส่งสำเนาแบบผลิตภัณฑ์ จำนวน 6 แบบ ต่อศาล แต่บันทึกแผ่นที่ 1 ระบุว่า เลขที่แม่พิมพ์ 103122 ตรงกับคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยเลขที่ 0402002692 ดังนั้น แบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยจึงมีเฉพาะแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 103122 ตามเอกสารแผ่นที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบแบบผลิตภัณฑ์ กับแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารแผ่นที่ 2 แล้ว ปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งแบบผลิตภัณฑ์ยังคล้ายคลึงกับสำเนาแบบผลิตภัณฑ์หมายเลข เอ 4170 ของบริษัทแอลแคนไทย จำกัด ตามเอกสารแผ่นที่ 5 โดยเอกสารแผ่นที่ 1 ซึ่งแสดงถึงภาพตัวถังอะลูมิเนียมรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ระบุว่า หมายเลข 4170 เป็นตัวแผงข้าง แบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารแผ่นที่ 5 ระบุวันที่ 28 กันยายน 2525 ส่วนแบบผลิตภัณฑ์ตามแผ่นที่ 2 ระบุวันที่ 13 มกราคม 2544 แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์แผงข้างมีและใช้มาตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2544 โดยบริษัทต่างบริษัทกัน นอกจากนี้ โจทก์ทั้งหกยังมีสำเนาใบส่งของ/สำเนาใบกำกับภาษี แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 23 เป็นหลักฐานสนับสนุนว่าโจทก์ที่ 2 ขาย “กล่องกะบะข้าง” รหัสสินค้า 103122 ในระหว่างเดือนตุลาคม 2546 ถึงเดือนกรกฎาคม 2547 รหัสสินค้าดังกล่าวตรงกับแบบผลิตภัณฑ์ ของโจทก์ที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหกในส่วนนี้เพียงพอให้รับฟังได้ว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเลขที่ 0402002692 หรือ 094377 สิทธิบัตรเลขที่ 24249 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามสิทธิบัตรเลขที่ 24249 จึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (1) ดังนั้น สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24249 เป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 และถือว่าเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ จึงให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 64 ส่วนแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24246, 24247, 24248 และ 24250 พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหกเท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร หรือได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24246, 24247, 24248 และ 24250 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรของจำเลยทั้งห้าฉบับตามคำขอรับสิทธิบัตรได้ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 57 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แล้วให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวทั้งหมดของจำเลยตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท นั้น ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมตกเป็นพับแล้วก็ไม่อาจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาศาลดังกล่าวในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24249 ของจำเลยเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ ให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 24249 ของจำเลย และยกฟ้องในส่วนที่โจทก์ทั้งหกขอให้พิพากษาว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเลขที่ 24246, 24247, 24248 และ 24250 ไม่สมบูรณ์และขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรทั้งสี่ดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ