คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานข้อที่กำหนดว่า ในกรณีลูกจ้างไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ โดยแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคที่ทางการไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำงาน เช่น วัณโรค กามโรค… นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งลูกจ้างกลับประเทศโดยลูกจ้างจะได้รับค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนนั้น ต้องเป็นกรณีตรวจพบโรคต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญาซึ่งสามารถตรวจพบได้ก่อนตกลงทำสัญญา หากตรวจพบแล้วผู้จัดหางานก็ชอบที่จะไม่ตกลงทำสัญญากับคนหางานได้ กรณีของโจทก์เป็นการตรวจพบมอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารเสพติดและไม่ได้ความว่าจำเป็นต้องใช้หรือได้รับอนุญาตจากแพทย์ในการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย จึงไม่เป็นการตรวจพบโรคตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เป็นกรณีโจทก์ฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงานในข้อที่ว่าเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของประเทศไต้หวัน ซึ่งตามสัญญานายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งโจทก์กลับประเทศไทยได้โดยไม่ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์
โจทก์ได้ทำงานแล้ว 16 วัน การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปเนื่องจากการตรวจพบมอร์ฟินในร่างกาย จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะรับผิดชอบได้ และมิใช่กรณีจำเลยผู้จัดหางานไม่สามารถจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นคนหางานได้ทำงานตามที่ตกลงกัน อันจะถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาตามความหมายของ พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 39 และมาตรา 46 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๓ โจทก์สมัครไปทำงานที่ประเทศไต้หวันกับจำเลยในตำแหน่งกรรมกร จำเลยเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากโจทก์เป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยส่งโจทก์ไปทำงานที่ประเทศดังกล่าว แต่โจทก์ตรวจโรคไม่ผ่าน จึงถูกส่งตัวกลับ โจทก์ขอเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืน แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่โจทก์ถูกส่งตัวกลับเพราะโจทก์ถูกตรวจพบสารเสพติดประเภทมอร์ฟินในร่างกายที่ประเทศไต้หวัน เป็นการฝ่าฝืนสัญญาจ้าง ข้อ ๑๓.๓ (๗) ฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์สมัครไปทำงานที่ประเทศไต้หวันกับจำเลยในตำแหน่งกรรมกร โดยจำเลยเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท โจทก์เดินทางไปถึงประเทศไต้หวันแล้วได้ทำงาน ๑๖ วัน ก็ถูกส่งตัวกลับเพราะตรวจโรคไม่ผ่าน โดยตรวจพบสารมอร์ฟินในร่างกายตามสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศสัญญาจ้างแรงงานและใบตรวจโรคเอกสารหมาย ล. ๖ ถึง ล. ๘ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าการตรวจพบมอร์ฟินในร่างกายของโจทก์ เป็นกรณีโจทก์จงใจฝ่าฝืนข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ ๑๓.๓ (๗) มิใช่กรณีตามข้อ ๑๓.๒ และจำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๙ จึงไม่ต้องคืนเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ตามมาตรา ๔๖ นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล. ๗ ข้อ ๑๓.๒ มีข้อความว่า ในกรณีลูกจ้างไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ โดยแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคที่ทางการไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำงาน เช่น วัณโรค กามโรค นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งลูกจ้างกลับประเทศไทยโดยลูกจ้างจะได้รับค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืน ซึ่งเห็นได้ว่าจะต้องเป็นกรณีตรวจพบโรคต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญาซึ่งสามารถตรวจพบได้ก่อนตกลงทำสัญญา หากตรวจพบแล้วผู้จัดหางานก็ชอบที่จะไม่ตกลงทำสัญญากับคนหางาน อีกทั้งการไม่ดำเนินการตรวจหรือตรวจแล้วไม่พบโรคนั้นเกิดจากการละเลยไม่สนใจต่อสภาพร่างกายของคนหางานว่าถูกต้องตามเงื่อนไขและเหมาะสมที่จะทำงานในประเทศนั้น ๆ ได้หรือไม่ ผู้จัดหางานจึงต้องรับผิดชอบ แต่กรณีของโจทก์เป็นการตรวจพบมอร์ฟินซึ่งเป็นสารเสพติดและไม่ได้ความว่าจำเป็นต้องใช้หรือได้รับอนุญาตจากแพทย์ในการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย จึงไม่เป็นการตรวจพบโรคตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ ๑๓.๒ การตรวจพบสารมอร์ฟิน แสดงว่าโจทก์ใช้สารเสพติด จึงเป็นกรณีโจทก์ฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๑๓.๓ (๗) โดยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของประเทศไต้หวันซึ่งนายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งโจทก์กลับประเทศไทยได้โดยไม่ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์ ส่วนความรับผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น มาตรา ๓๙ บัญญัติว่า “ในกรณีคนหางานเดินทางไปถึงประเทศที่จะทำงานแล้วไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน…” และมาตรา ๔๖ บัญญัติว่า “…หรือในกรณีคนหางานไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน…” ซึ่งแสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองคนหางานให้ได้ทำงานตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและเป็นบทบังคับให้ผู้จัดหางานต้องจัดให้คนหางานได้ทำงานตามข้อตกลงในสัญญา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานแล้ว ๑๖ วัน ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปเนื่องจากการตรวจพบมอร์ฟินในร่างกายจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะรับผิดชอบได้ มิใช่กรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดหางานไม่สามารถจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นคนหางานได้ทำงานตามที่ตกลงกัน อันจะถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาตามความหมายแห่งบทบัญญัติในมาตราทั้งสองนั้นแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อสัญญาและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากจำเลย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share