คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิการเช่าตึกพิพาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โจทก์ให้จำเลยทำการค้าในตึกนี้ ต่อมาจำเลยได้ปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจว่าโจทก์โอนสิทธิการเช่าให้จำเลยแล้วนำไปยื่นคำขอต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โอนสิทธิการเช่าเป็นของจำเลย แล้วจำเลยยื่นคำขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้มีชื่อ ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอดังกล่าว ฟ้องของโจทก์เช่นนี้แปลความได้ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยดังที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจนั้น จำเลยให้การโต้แย้งว่า โจทก์มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกเป็นของจำเลยหรือไม่ ดังนี้ แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์จะนำสืบว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยสำคัญผิด ก็เป็นการสืบแสดงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยตามฟ้องหาใช่นำสืบพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกคืนสิทธิการเช่าที่โจทก์มีอยู่จากจำเลยผู้อาศัย แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยถอนคำขอที่จำเลยขอโอนสิทธิการเช่าแก่ผู้อื่น. ก็มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด จะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาบังคับแก่คดีไม่ได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติเพียงว่า คำฟ้องต้องมีคำขอบังคับ แต่มิได้บัญญัติถึงขนาดว่าคำขอบังคับจะต้องให้ปรากฏไว้เฉพาะในคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น คดีนี้โจทก์มีคำขอไว้ในคำฟ้องชัดแจ้งว่าขอให้ศาลพิพากษาให้สิทธิการเช่ากลับคืนมาเป็นของโจทก์ ถือได้ว่ามีคำขอบังคับในข้อนี้ไว้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิการเช่าตึกพิพาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โจทก์ให้จำเลยทำการค้าในตึกนี้ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจว่าโจทก์โอนสิทธิการเช่าให้จำเลย เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลงเชื่อจึงได้โอนสิทธิการเช่าให้จำเลยแล้วจำเลยขอโอนให้แก่ผู้มีชื่อ ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอโอนสิทธิการเช่า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยกับภรรยาได้รับเซ้งตึกพิพาทจากนายวิรัชและให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้เช่าแทน ต่อมาโจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยโอนชื่อการเช่าเป็นของจำเลยและคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าและโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทคืนให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้อง คดีโดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้จำเลยอาศัยทำการค้า ต่อมาทราบว่าจำเลยปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจว่าโจทก์โอนสิทธิการเช่าให้จำเลยซึ่งมิใช่ความจริง ฟ้องของโจทก์เช่นนี้พอแปลความได้ว่าโจทก์ไม่มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยดังที่ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจนั้น จำเลยให้การโต้แย้งว่า โจทก์มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยและศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกเป็นของจำเลยหรือไม่ ดังนี้ แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์จะนำสืบว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยสำคัญผิด ก็เป็นการสืบแสดงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยตามฟ้องหาใช่นำสืบพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจ แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกคืนสิทธิการเช่าที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญาเช่าจากจำเลยผู้อาศัย แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยถอนคำขอที่จำเลยทำขอโอนสิทธิการเช่าแก่ผู้อื่น ก็มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 มาบังคับแก่คดีหาได้ไม่

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ขอให้สิทธิการเช่าเป็นของโจทก์ตามเดิม โดยกล่าวไว้ในคำบรรยายฟ้อง มิได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องเป็นคำขอบังคับไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าแก่จำเลย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติไว้เพียงว่าคำฟ้องต้องมีคำขอบังคับ แต่มิได้บัญญัติถึงขนาดว่า คำขอบังคับจะต้องให้ปรากฏไว้เฉพาะในคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น การพิจารณาว่าโจทก์ผู้เสนอคดีมีความประสงค์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดจึงต้องพิจารณาจากคำฟ้องทั้งฉบับ คดีนี้โจทก์มีคำขอไว้ในคำฟ้องตอนท้ายชัดแจ้งว่า ขอให้ศาลพิพากษาให้สิทธิการเช่ากลับคืนมาเป็นของโจทก์ตามเดิม ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยมีคำขอบังคับในข้อนี้ไว้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ก็เพื่อให้การเป็นไปตามคำขอบังคับข้างต้นนั่นเอง หาใช่ศาลพิพากษาให้สิ่งใด ๆเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่

พิพากษายืน

Share