คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดถึงการพ้นสภาพของพนักงานว่าเนื่องจากเหตุผลของบริษัทหรือเหตุผลอื่นดังต่อไปนี้ ปิดหรือยุบหน่วยงานในกรณีที่บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องปิดหรือยุบหน่วยงานหรือบางส่วนของหน่วยงาน ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นกรณีที่ปิดหรือยุบหน่วยงานเพราะจำเลยประกอบกิจการค้าขาดทุนเท่านั้น หากจำเลยมีความจำเป็นจะต้องปิดหรือยุบหน่วยงานด้วยเหตุผลอื่นที่สมควรก็ย่อมทำได้ การที่จำเลยมีความจำเป็นต้องยุบหน่วยงานกองโรงพิมพ์ที่โจทก์ทำงานอยู่เนื่องจากจำเลยได้ขยายการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นเหตุให้กองโรงพิมพ์ไม่สามารถผลิตของบรรจุสินค้าได้ทันความต้องการ จำต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเครื่องจักรและหาเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการผลิตของโดยชักชวนบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความชำนาญงานด้านนี้มาร่วมก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้น ย่อมเป็นผลให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ต้องพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยอมโอนไปเป็นลูกจ้างในบริษัทใหม่จึงมีเหตุอันสมควรและชอบด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ชอบที่จะปฏิเสธไม่โอนย้ายไปทำงานกับบริษัทอื่นตามความต้องการของจำเลย ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่โอนย้ายไปดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์เพราะต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานอยู่ จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามระเบียบข้อบังคับเอกสารหมาย ล.1 บทที่ 13 ข้อ 2 ที่ว่า การพ้นสภาพพนักงานเนื่องจากเหตุผลของบริษัทฯ หรือมีเหตุผลอื่นดังต่อไปนี้2.1 ปิดหรือยุบหน่วยงาน ในกรณีที่บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องปิดหรือยุบหน่วยงานหรือบางส่วนของหน่วยงาน นั้น มีความหมายว่าจำเลยจะปิดหรือยุบหน่วยงานได้ก็ต่อเมื่อจำเลยประกอบกิจการขาดทุนเท่านั้น เห็นว่า จำเลยมีระเบียบข้อบังคับฉบับแก้ไขปรับปรุงพ.ศ. 2528 บทที่ 13 ข้อ 2 ที่ใช้กับพนักงานของจำเลยซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย ได้กำหนดถึงการพ้นสภาพของพนักงานว่าเนื่องจากเหตุผลของบริษัทหรือเหตุผลอื่น ดังต่อไปนี้ “ข้อ 2.1 ปิดหรือยุบหน่วยงานในกรณีที่บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องปิดหรือยุบหน่วยงาน หรือบางส่วนของหน่วยงาน” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานอยู่ โจทก์จึงต้องพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงว่าการปิดหรือยุบหน่วยงานของจำเลยจะต้องเป็นกรณีที่จำเลยประกอบกิจการค้าขาดทุนจนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้จึงจะปิดหรือยุบหน่วยงานได้ นั้น เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเอกสารหมาย ล.1 บทที่ 13ข้อ 2.1 ที่กำหนดให้ลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นพนักงานมิได้ระบุว่าจะต้องเป็นกรณีที่ปิดหรือยุบหน่วยงานเพราะจำเลยประกอบกิจการค้าขาดทุนเท่านั้น หากบริษัทจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องปิดหรือยุบหน่วยงานด้วยเหตุผลอื่นที่สมควรก็ย่อมทำได้ สำหรับคดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องยุบหน่วยงานกองโรงพิมพ์และไปเปิดเป็นบริษัท เอช แพ็ค (ประเทศไทย)จำกัด เนื่องจากจำเลยได้ขยายการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นเหตุให้กองโรงพิมพ์ที่โจทก์ทำงานอยู่ไม่สามารถผลิตซองบรรจุสินค้าได้ทันความต้องการ จำเลยจึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเครื่องจักรและหาเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการผลิตซองกับได้ชักชวนบริษัทเอช แพ็คเกจ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความชำนาญงานด้านนี้มาร่วมก่อตั้งบริษัท เอช แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เป็นผลให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ต้องพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ยอมโอนเป็นลูกจ้างในบริษัทใหม่ จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์การเลิกจ้างจึงมีเหตุอันสมควร และชอบด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่ใช่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share