คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 193/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยสาเหตุเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์และได้กล่าวฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งในการพิจารณาของศาลอาจบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือไม่รับกลับเข้าทำงาน โดยกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกจ้างแทนการกลับเข้าทำงานก็ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้น โจทก์ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินช่วยเหลือบุตร สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินประกันเสียในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้วแต่กลับมาเรียกร้องเป็นคดีหลัง ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ต่อมาจำเลยให้พักงานโจทก์ โดยไม่จ่ายเงินเดือน ค่าครองชีพ และเงินช่วยเหลือบุตรให้แก่โจทก์ ในที่สุดจำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานผิดวินัยโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายเงินบำเหน็จกับค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย เงินประกัน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางในประเด็นที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจฟ้องเรียกเงินต่าง ๆ รวมกับคดีก่อนได้แล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ ฯลฯ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๒๔,๗๘๐ บาท เงินประกันเป็นเงิน ๑,๒๓๖ บาท ๑๑ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป กับให้จ่ายค่าจ้างเป็นเงิน ๑,๓๔๙ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าเดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ออกจากงานและขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และมีคำขอเรียกค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินช่วยเหลือบุตร สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จค่าชดเชยและเงินประกันซึ่งโจทก์อาจเรียกร้องในคดีก่อนได้อยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า เดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับขององค์การแก้ว ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้อ ๒๔ อันไม่เป็นความจริงขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์คดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง หมายเลขดำที่ ๑๖๐๒/๒๕๒๖ หมายเลขแดงที่ ๓๑๖๗/๒๕๒๗ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๑/๒๕๒๘ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยตามคดีดังกล่าวมาแล้วนั้น สาเหตุก็เนื่องจากจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๕๕/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖ และโจทก์ได้กล่าวฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งในการพิจารณาของศาลก็อาจบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือไม่รับกลับเข้าทำงานโดยกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกจ้างแทนการกลับเข้าทำงานก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้นโจทก์ก็ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินช่วยเหลือบุตร สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินประกันไว้ในคดีดังกล่าว แต่กลับมาเรียกร้องเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๐๒/๒๕๒๖ หมายเลขแดงที่ ๓๑๖๗/๒๕๒๗ ของศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินประกันและค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share