คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 193/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีเดิม โจทก์เคยฟ้องจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ตามบทบัญญัติในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯขอให้เพิกถอนคำสั่ง และให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน คดีถึงที่สุดเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้น โจทก์ก็ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินช่วยเหลือบุตรสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชยและเงินประกันไว้ในคดีดังกล่าว แต่กลับมาเรียกร้องเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย เงินประกันพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าว และคดีของโจทก์ฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จ่ายค่าชดเชย เงินประกัน และค่าจ้างพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2526 จำเลยได้มีคำสั่งที่ 55/2526 ให้โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับขององค์การแก้วว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523ข้อ 24 อันไม่เป็นความจริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางสุจริตการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วปรากฏตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง หมายเลขดำที่ 1602/2526หมายเลขแดงที่ 3167/2527 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่1513/2528 เอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยตามคดีดังกล่าวมาแล้วนั้น สาเหตุก็เนื่องจากจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 55/2526 ลงวันที่17 พฤษภาคม 2526 และโจทก์ได้กล่าวฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งในการพิจารณาของศาลก็อาจบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือไม่รับกลับเข้าทำงานโดยกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกจ้างแทนการกลับเข้าทำงานก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้นโจทก์ก็ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินช่วยเหลือบุตรสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ เงินค่าครองชีพ และเงินประกันไว้ในคดีดังกล่าว แต่กลับมาเรียกร้องเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 1602/2526 หมายเลขแดงที่ 3167/2527 ของศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นกับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ ค่าจ้าง ค่าครองชีพและเงินช่วยเหลือบุตรต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินประกัน และค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share