คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างโรงงานกระสอบซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชีได้ลงชื่อและประทับตราโรงงานฯรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. และห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.โอนสิทธิการรับเงินค่าปอจากโรงงานฯ ให้แก่บริษัท ท. อันมีผลผูกพันตามกฎหมายที่โรงงานฯจะ ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท ท. เท่านั้น เช่นนี้ การที่ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยจ่ายเงินให้แก่ห้างทั้งสองแทนที่จะจ่าย ให้แก่บริษัท ท. เป็นเหตุให้บริษัท ท. มีหนังสือทวงถามจากจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิใช้อำนาจ ตามระเบียบเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าได้ลงโทษเลิกจ้างโจทก์โดยใช้อำนาจตามระเบียบที่วางไว้ เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลย การที่ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาท
คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยปิดประกาศคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั่วไปที่สำนักงานใหญ่และที่โรงงานเป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย มิใช่เป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิเสนอคำฟ้องข้อหานี้ต่อศาลแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของโรงงานกระสอบกระทรวงการคลัง จำเลยที่ ๒ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการของโรงงานกระสอบ โจทก์เป็นลูกจ้างโรงงานกระสอบดังกล่าว ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จำเลยได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๓ โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อีกทั้งได้ปิดประกาศคำสั่งทั่วไปที่สำนักงานใหญ่และที่โรงงานกระสอบทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ ขอให้บังคับจำเลยกับโจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม ให้โจทก์ได้รับค่าจ้างในอัตราที่โจทก์มีสิทธิจะได้เลื่อนขั้นปีละ ๑ ขั้น และมีสิทธิได้ปรับค่าจ้างในระหว่างเลิกจ้าง กับต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างเลิกจ้างแก่โจทก์เสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีการเลิกจ้างมาก่อน หากไม่อาจบังคับได้ก็ให้ชดใช้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จหรือเงินกองทุนสงเคราะห์ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒,๓๙๕,๔๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๒ มีอำนาจกระทำการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการโรงงานกระสอบ กระทรวงการคลัง จำเลยที่ ๒ จึงมิใช่นายจ้างของโจทก์ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากโรงงานกระสอบได้ซื้อปอจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญธัญญวัฒน์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด บำรุงไทยกสิกรรม แต่ห้างทั้งสองได้โอนทรัพย์สิทธิการรับเงินค่าปอจากโรงงานกระสอบให้แก่บริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์จำกัด และแจ้งการโอนให้โรงงานกระสอบทราบแล้วแต่โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชีได้ดำเนินการจ่ายเงินให้บริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ไปเพียงบางส่วน นอกจากนั้นได้จ่ายให้แก่ห้างทั้งสองโดยรู้อยู่แล้วว่าห้างทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับ และต่อมาบริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ได้ทวงถามให้โรงงานกระสอบจ่ายเงินคณะกรรมการสอบสวนวินัยถือว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โจทก์จึงถูกไล่ออกจากงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใด ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อในการจ่ายเงินให้แก่ห้างทั้งสอง แต่ตามพฤติการณ์ที่บริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ประพฤติต่อห้างทั้งสองกับโรงงานกระสอบ มีส่วนสำคัญที่ทำให้โจทก์สับสนและชำระหนี้ไม่ถูกต้องได้ ทั้งความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นแก่โรงงานกระสอบ ยังไม่พอถือว่าความประมาทเลินเล่อของโจทก์เป็นเหตุให้เสียหายแก่หน้าที่อย่างร้ายแรงและมีสาเหตุเนื่องจากผู้อำนวยการไม่พอใจโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินกองทุนสงเคราะห์ การที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานไม่เป็นการละเมิด และการปิดประกาศคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานก็ไม่ใช่มูลละเมิดที่สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีในมูลละเมิดดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ไม่มีฐานะเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชย ๗๐,๘๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๑,๘๐๐ บาท และค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ฯลฯคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชีหรือสมุห์บัญชีของโรงงานกระสอบได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ยังได้จ่ายเงินให้แก่ห้างทั้งสองซึ่งเป็นผู้โอนสิทธิเรียกร้องโดยความประมาทเลินเล่อและเป็นเหตุบริษัทไทยเซฟวิ่งทรัสต์จำกัด มีหนังสือทวงเตือนให้โรงงานกระสอบชำระหนี้ แล้ววินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ ๑ ที่ว่า ความประมาทเลินเล่อของโจทก์เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โรงงานกระสอบอย่างร้ายแรงนั้น ว่า การที่โจทก์ลงชื่อรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายที่โรงงานกระสอบจะต้องจ่ายเงินค่าปอให้แก่บริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ผู้รับโอนสิทธิ เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่ห้างทั้งสอง เป็นเหตุให้บริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ไม่ได้รับชำระหนี้ค่าปอตามหนังสือแจ้งโอนสิทธิเรียกร้องเป็นจำนวนหกล้านบาทเศษ จึงได้เรียกร้องให้โรงงานกระสอบชำระ ซึ่งโรงงานกระสอบอาจถูกฟ้องร้องให้ชำระหนี้แก่บริษัทไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ได้อีก ความประมาทเลินเล่อของโจทก์จึงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดทางวินัยซึ่งมีกำหนดโทษถึงขั้นไล่ออก จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ให้การว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งระเบียบว่าด้วย วินัยการลงโทษและการถอดถอนพนักงานคนงานโรงงานกระสอบ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๐๘ข้อ ๖(๖) ระบุว่า ประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานเป็นเหตุให้เสียหายแก่การงานอย่างร้ายแรง ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต้องถูกลงโทษถึงขั้นไล่ออกและในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๑ ก็ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าโจทก์กระทำการอันเป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน เป็นเหตุให้เสียหายแก่การงานอย่างร้ายแรงตามระเบียบว่าด้วย วินัย ฯลฯ ข้อ ๖(๖) ฉะนั้นข้อที่ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เสียหายแก่การงานอย่างร้ายแรงหรือไม่ จึงเท่ากับเป็นประเด็นที่จำเลย ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแล้ว หาใช่เป็นเรื่องศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนอกประเด็นไม่
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า คำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน จำเลยได้ปิดประกาศทั่วไปทั้งที่สำนักงานใหญ่และโรงงาน เป็นการจงใจประมาทเลินเล่อที่จะให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณ เป็นมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงาน โจทก์มีสิทธิเสนอข้อหาต่อศาลแรงงานได้ เห็นว่าการที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยปิดประกาศคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้จะเป็นผลมาจากการเลิกจ้าง ก็มิใช่เป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงาน หรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯลฯ มาตรา ๘(๕) แต่อย่างใด ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องโจทก์ข้อนี้
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เงินบำเหน็จหรือเงินกองทุนบำเหน็จ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเงินกองทุนสงเคราะห์ มีเงินสมทบส่วนที่เป็นของโจทก์หรือดอกผลของเงินสมทบของโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนของโจทก์ นั้น เห็นว่าตามฟ้องโจทก์เพียงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของโรงงานกระสอบเท่านั้นมิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสมทบส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งต้องมีการจ่ายคืนแก่พนักงานหรือคนงาน เมื่อข้อบังคับโรงงานกระสอบ ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๑ ใช้บังคับแล้วแต่อย่างใด ฉะนั้น อุทธรณ์โจทก์จึงมิใช่ประเด็นหรือข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นการผิดขั้นตอนหรือไม่ จำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมควรมีเพียงไร จำเลยจะต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยเพียงใด และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพราะเหตุที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมไม่นั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา

Share