แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่ง เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลของการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 นั้น จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้อง พิสูจน์ว่าตน ได้ ใช้ ความระมัดระวังตาม สมควรแก่หน้าที่ดูแล ซึ่ง ทำอยู่นั้น แต่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบแต่ เพียงว่าจำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัด นครราชสีมา โดย จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้ตาม ไปด้วย เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตน ได้ ใช้ความระมัดระวังตาม สมควรแก่หน้าที่ดูแล ซึ่ง ทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้อง ร่วม รับผิดกับจำเลยที่ 1.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่ระมัดระวังดูแลมิให้จำเลยที่ 1ทำร้ายผู้อื่น แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังตามหน้าที่ปล่อยให้จำเลยที่ 1 ใช้ด้ามจอบตีศีรษะโจทก์อย่างแรงเป็นเหตุให้ศีรษะโจทก์แตก กะโหลกศีรษะยุบลงถึงสมอง โจทก์ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครราชสีมา เป็นเวลา 7 วัน เสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน5,000 บาท ค่าพาหนะกับค่าที่พักของญาติพี่น้องไปเฝ้าดูแลโจทก์อีก5,000 บาท ค่าทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้าย 14,000 บาท ค่าขาดรายได้ในระหว่างเจ็บป่วย 150 วัน วันละ 40 บาท เป็นเงิน 6,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 30,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า สาเหตุที่มีการทำร้ายร่างกาย เกิดจากการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทะเลาะวิวาทกัน โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการละเมิด และมิได้เสียหายดังฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรตามสมควรแก่หน้าที่โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์สุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะติดตามไปควบคุมดูแลจำเลยที่ 1ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 29,416 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน23,416 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลของการละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยขอศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดนครราชสีมาและได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ โดยในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2และที่ 3 อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่า กรณีอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 กล่าวคือจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นบิดามารดาจะต้องพิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดนครราชสีมาโดยจำเลยที่2 และที่ 3 ไม่ได้ตามไปอยู่ด้วยเท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแกหน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.