แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นความวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิด จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้คือใครและจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนั้นในฐานะอะไร หรือมีความสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ช – 5097 กรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บจ – 829 ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2543 จำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้ดังกล่าว ไปตามถนนท่าข้ามจากด้านถนนพระรามที่ 2 มุ่งหน้าไปทางสถานีตำรวจนครบาลท่าข้ามโดยความประมาทเลินเล่อด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงบริเวณหน้าบริษัทเอสพีสปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นทางโค้ง ขณะนั้นมีรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 1 ช – 5097 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับแล่นข้างหน้า และจำเลยที่ 1 ควรชะลอความเร็วรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ให้ช้าลงเมื่อถึงทางโค้งเว้นระยะห่างพอสมควรจากรถคันหน้าซึ่งโจทก์ที่ 2 ขับอยู่ เมื่อโจทก์ที่ 2 ชะลอรถบริเวณทางโค้งรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับจึงชนท้ายรถคันที่โจทก์ที่ 2 ขับอย่างแรงทำให้รถคันโจทก์ที่ 2 ขับเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ริมทาง แต่ท้ายรถยังอยู่บนถนน ทำให้รถคันจำเลยที่ 1 ขับ แล่นชนท้ายซ้ำอีกครั้ง เป็นเหตุให้รถคันโจทก์ที่ 2 ขับ ได้รับความเสียหายหลายรายการ ต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 3,966 บาท ไม่สามารถทำการงานประจำตามอาชีพได้เป็นเวลา 2 เดือน คิดเป็นค่าขาดรายได้จำนวน 100,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 9,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 7,797.45 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 129,000 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 111,763.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท และต้นเงิน 103,966 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บจ – 829 ชัยภูมิ จากใคร ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไรอันจะทำให้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,966 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บจ – 829 ชัยภูมิ ที่จำเลยที่ 1 ขับด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับได้รับอันตรายสาหัสขอให้ร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็คือ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นความวินาศภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดจึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้คือใครและจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนั้นในฐานะอะไร หรือมีความสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงเหตุที่จะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบจึงต้องรับผิดด้วย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ