คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราา 1250,1253,1254,1255 บัญญัติถึงหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ และตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ. 2499 บัญญัติถึงความรับผิดทางอาญาเกี่ยวกับการชำระบัญชีเป็นความผิดของผู้ชำระบัญชีมีบทลงโทษตามมาตรา 32,33 และ 35 โจทก์เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลซึ่งศาลได้พิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนแล้ว และตั้งให้จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีโจทก์มีผลประโยชน์ได้เสียในห้างหุ้นส่วนอยู่ ซึ่งผลประโยชน์ของโจทก์จะได้ผลประการใดนั้นอยู่ที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ให้กระทำ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีไม่กระทำการตามที่กฎหมายบังคับไว้ดังกล่าแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะฟ้องผู้ชำระบัญชีในทางอาญาเกี่ยวแก่ความผิดต่อพระราชบัญญัตินั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธ.ถาวรกิจก่อสร้างมีจำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้หนึ่ง ต่อมาศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอมให้เลิกห้างหุ้นส่วน และตั้งให้จำเลยที่ ๓ กับนายสมนึกเป็นผู้ชำระบัญชี หลังจากศาลพิพากษาให้เลิกห้างแล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันยักยอกที่ดินและตึกแถวของห้างหุ้นส่วนโดยร่วมกันจัดการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้มีชื่อ แล้วร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่นำลงในบัญชีรายรับ และหลังจากศาลพิพากษาให้เลิกห้างจนถึงวันฟ้อง จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ชำระบัญชี และผู้รับมอบหมายใหจัดการทรัพย์สินของห้างได้กระทำผิดหน้าที่โดยยินยอมให้จำเลยทั้งสองเบียดบังเอาเงินที่ขายทรัพย์สินได้เป็นประโยชน์เสีย ทั้งยังได้บังอาจละเลยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกห้างหุ้นส่วนไปยังเจ้าหน้าที่ทั้งหลายภายใน ๑๔ วันนับแต่วันเลิกห้าง ไม่ทำการจดทะเบียนเลิกห้างภายใน ๑๔ วัน ไม่ทำงบดุลส่งให้ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง ไม่เรียกประชุมใหญ่ ไม่ทำรายงาน ทำให้ห้างหุ้นส่วนและโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒,๓๕๓,๓๕๔,๘๓,๙๐ พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓๒,๓๓,๓๕(๑)(๒)(๓)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า คดีโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยักยอกทรัพย์สินของห้างไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาที่จะร่วมกันยักยอกทรัพย์สินของห้างไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ส่วนข้อหาสำหรับจำเลยที่ ๓ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ นั้น เห็นว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ความผิดดังกล่าวนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการจะฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นราษฎร ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทางอาญาได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อ ๒ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาตามฎีกาข้อ ๒ เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ เกี่ยวแก่ความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๕๐ บัญญัติว่า หน้าที่ของผู้ชำระบัญชีคือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจ่ายจำหน่ายทรัพย์สินของห้ามหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ย่อมหมายความว่าเป็นหน้าที่ทั้วไปของผู้ชำระบัญชีจะต้องชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นให้เสร็จไป คือจัดการเรื่องหนี้สินของห้างหุ้นส่วน ถ้ายังมีเงินเหลือก็ให้จัดการคืนทุนและแบ่งเงินปันผลให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี ซึ่งในการจัดการเพื่อให้เสร็จผลตามนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๓ ได้บัญญัติว่า ภายในสิบสี่วันนับแต่ได้เลิกห้างหรือถ้าศาลได้ตั้งผู้ชำระบัญชีนับแต่วันที่ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำการ คือส่งคำบอกกล่าวไปยังเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ๆ คนของห้างและมาตรา ๑๒๕๔ บัญญัติว่าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำบอกให้จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เลิกกันและมาตรา ๑๒๕๕ บัญญัติว่าผู้ชำระบัญชีจะต้องทำงบดุลขึ้นโดยเร็วที่สุดที่เป็นวิสัยจะทำได้ ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบลงสำคัญว่าถูกต้องแล้วต้องเรียกประชุมใหญ่ ซึ่งการที่ผู้ชำระบัญชีไม่กระทำดังกล่าวนั้น ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้บัญญัติความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการชำระบัญชีเป็นความผิดของผู้ชำระบัญชีไว้ตามมาตรา ๓๒,๓๓ และ ๓๕ เป็นบทลงโทษ การที่โจทก์เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว มีผลประโยชน์ได้เสียในห้างหุ้นส่วนอยู่ ซึ่งผลประโยชน์ของโจทก์จะได้ผลประการใดนั้นอยู่ที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ให้กระทำ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีไม่กระทำการตามที่กฎหมายบังคับไว้ดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอยู่ด้วย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะฟ้องจำเลยที่ ๓ ในทางอาญาเกี่ยวแก่ความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากมีข้อโต้เถียงกันอยู่ที่ว่าจำเลยที่ ๓ ได้กระทำผิดในเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างตามคำฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้จะได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประเด็นดังกล่าวข้างต้น
(สนับ คัมภีรยส รื่น วิไลชนม์ สมชัย ทรัพยวณิช)

Share