คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรที่บัญญัติให้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน แล้วจึงจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้นั้นเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล และประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2)ก็มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฉะนั้นโจทก์จึงอ้างเหตุอื่นเพิ่มเติมจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่หัก ณ ที่จ่ายเป็นจำนวนสูงถึง 2,700,000 บาทเศษ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์ไปตรวจสอบไต่สวนโดยอ้างอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา 19 ได้ และเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความจากการตรวจสอบไต่สวนดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ จำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้เดิม โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ตามมาตรา 20.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานประเมิน จำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากการขายสินค้าพืชไร่ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 69 ทวิ ในอัตราร้อยละ 1 ในรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีโจทก์ถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเกินกว่าภาษีเงิได้ที่โจทก์จะต้องเสียจริง เมื่อนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีทั้งสี่ปีดังกล่าวแล้วมาเครดิตออก โจทก์จะต้องได้รับคืนเงินภาษีทั้งสิ้นจำนวน 2,771,485.56 บาท โจทก์จึงได้ขอคืนจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กลับอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่ง ประมวลรัษฎากร หมายเรียกโจทก์ไปทำการไต่สวนและสั่งให้โจทก์นำสมุดบัญชีทั้งสองเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวทั้งหมดไปให้จำเลยตรวจสอบเพื่อประเมินเก็บภาษีเพิ่มเติม ต่อมาที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์ว่าโจทก์มีกำไรสุทธิที่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเป็นเงิน 17,861,915.41 บาทคิดเป็นเงินภาษี 6,251,670.39 บาท หักภาษีที่โจทก์ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายจำนวน 1,592,959.25 บาท คงเหลือเงินภาษีที่โจทก์จะต้องชำระเป็นเงิน 4,658,711.14 บาท กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรจำนวน 931,742.23 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระ5,590,453.37 บาท เมื่อนำภาษีที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนเป็นเงิน2,073,399 บาท มาเครดิตออกแล้วเหลือเงินภาษีที่จะเสียเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 3,527,175.98 บาท ให้โจทก์นำไปชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โจทก์เห็นว่าการประเมินของจำเลยที่ 2ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิออกหมายเรียกโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ไม่มีสิทธิที่จะประเมินและเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีกการประเมินดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวก็ย่อมที่จะไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้อาศัยมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากรแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิมให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลไปชำระให้นั้นจะต้องอาศัยพยานที่ปรากฏจากการตรวจสอบตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แต่กรณีนี้เมื่อไม่สามารถเรียกพยานหลักฐานมาตรวจสอบ เพราะหลักฐานถูกไฟไหม้โดยเหตุสุดวิสัย อัยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จึงไม่มีหลักฐานที่จำเลยที่ 2 จะทราบข้อความจากหลักฐานนั้นได้ ดังนั้น จึงเป็นการประเมินโดยปราศจากหลักฐานที่ได้มาจากหมายเรียกตามมาตรา 19 หรือเท่ากับยังไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 19 เป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการที่จำเลยที่ 2 ได้ประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรจากโจทก์ด้วยนั้นไม่ชอบเพราะการประเมินเรียกเก็บของจำเลยที่ 2 นั้นสืบเนื่องจากโจทก์ได้ขอภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืน และตามข้อเท็จจริงในรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละปี โจทก์ก็ได้ยื่นภ.ง.ด. 5 เสียภาษีเงินได้โดยชอบ มิได้เคยหลีกเลี่ยงบิดพลิ้วแต่โดยเหตุที่ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่โจทก์ชำระไปก่อนนั้นมีจำนวนสูงกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โจทก์จะต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี โจทก์จึงไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะต้องชำระ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์ล่วงหน้านั้นจำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์อย่างมากมายจึงไม่สมควรที่จะเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์อีก ขอให้พิพากษายกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรจำนวน 5,197,760.49 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่าโจทก์จะต้องชำระเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 3,527,175.98 บาท และจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่าการประเมินของจำเลยที่ 2 ถูกต้อง กรณีเงินเพิ่มได้มีมาตรา 22 บัญญัติไว้ให้เพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีของโจทก์นี้โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยปกปิดรายรับที่ต้องลงบัญชีไว้ถึง 15,293,567.03 บาท และโจทก์มิได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดี นอกจากนั้นโจทก์มิได้ยื่นหนังสือขอลดหรืองดเพิ่มตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ 121/2513 จำเลยที่ 3 ได้พิจารณาสั่งการให้โจทก์เสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นการชอบด้วยเหตุผล พฤติการณ์และข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นโจทก์ได้สละสิทธิไม่ขอรับดอกเบี้ยจาการที่โจทก์ได้รับคืนเงินภาษีอากรตามมาตรา 4 ทศ จึงหมดสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยในกรณีนี้ทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือที่ 1070/2/02766 ลงวันที่ 22 กันยายน2525 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์นั้นเสีย ให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ดำเนินการสั่งคำร้องขอคืนภาษีอากรของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคมพ.ศ. 2522 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่133 (พ.ศ .2516)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรลงวันที่ 22 กรกฏาคม 2516 ต่อไป
โจทก์และจำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ได้อุทธรณ์อ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มไม่ถูกต้องทั้งหมดทุกประการขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเลิกการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งหมด ในชั้นฟ้องคดีต่อศาล โจทก์ก็ยังคงอ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดเช่นเดียวกัน เพียงแต่ในชั้นฟ้องคดีต่อศาลโจทก์ได้อ้างเหตุผลเพิ่มเติมตามที่กล่าวในคำฟ้องข้อ 6 (ยกเว้นข้อ 6.6.1) และข้อ 7 มาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์นอกเหนือจากเหตุผลที่อ้างในคำอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.11 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมิได้อ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบตามเหตุผลในคำฟ้องข้อ 6(ยกเว้น 6.6.1) และข้อ 7 ก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากรที่บัญญัติให้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนแล้วจึงจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้นั้น เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด และในเรื่องนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า”เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล จะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉะนั้นโจทก์จึงอ้างเหตุอื่นเพิ่มเติมจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อที่สองมีว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และแก้จำนวนเงินที่ยื่นรายการเดิมไว้ตามมาตรา 20 ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมโจทก์ได้ยื่นแบบรายการชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2517 ถึง 2521 ไว้ต่อจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาเมื่อเดือนตะลาคม 2522 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากร ณ ที่จ่ายจำเลยที่ 2 จึงได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ไปให้คำชี้แจงประกอบการไต่สวนตรวจสอบ พร้อมทั้งให้นำสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีไปให้ตรวจสอบด้วย ปรากฏตามหมายเรียกเอกสารหมาย จ.8 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่หัก ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนสูงถึง 2,700,000 บาทเศษ ย่อมทำให้มีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ จำเลยที่ 2 จึงได้ออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งในเอกสารหมาย จ.8 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 หมายเรียกโจทก์ไปตรวจสอบไต่สวนโดยอ้างอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 จึงเป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ ฉะนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา 19 ได้ การเรียกโจทก์ไปตรวจสอบไต่สวนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพียงการเรียกไปตรวจสอบเพื่อประกอบคำร้องขอคืนภาษีอากรหัก ณ ที่จ่ายตามกฎกระทรวง ฉบับที่133 (พ.ศ. 2516) ลงวันที่ 22 มีนาคม 2516 ข้อ 2 วรรคสามแต่ประการเดียวดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจตามมาตรา 19 เรียกโจทก์ไปตรวจสอบไต่สวนและได้ทราบข้อความจากการตรวจสอบไต่สวนดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้เดิม โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ตามมาตรา 20 …
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อที่สามมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตามเอกสารหมาย จ.8 ให้โจทก์นำสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีของโจทก์ไปให้ตรวจสอบ โจทก์ไม่สามารถนำไปแสดงได้เพราะถูกไฟไหม้หมดแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงตรวจสอบหลักฐานการส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศของโจทก์จากกระทรวงพาณิชย์และตรวจสอบจากแฟ้ม อี.ซี.61 ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับตรวจสอบหลักฐานการขายข้าวของโจทก์ในประเทศเฉพาะที่ขายให้แก่หน่วยราชการผลการตรวจสอบปรากฏว่า โจทก์ได้เสียภาษีสำหรับปี 2518-2520 เกินไป2,073,399 บาท ส่วนปี 2521 โจทก์เสียภาษีขาดไป 4,658,711.14 บาทซึ่งโจทก์ต้องเสียเงินเพิ่ม 931,742.23 บาท รวมเป็นเงิน5,590,453.37 บาท เมื่อหักกับเงินภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินในปี2518-2520 แล้วโจทก์ยังคงต้องชำระเพิ่มเติมอีก 3,517,054.37 บาทเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีจำนวน3,527,175.98 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตรวจสอบหลักฐานแล้ว เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนเงินประเมินผิดพลาดไปที่ถูกควรเป็น 3,517,054.37 บาท แต่เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พบว่า เจ้าพนักงานประเมินคำนวณรายรับของโจทก์ในปี2521 ขาดไป 837,145.74 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีและเงินเพิ่มเพิ่มขึ้นจากการประเมินอีก 341,479.60 บาท ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมิได้แก้ไขจำนวนเงินที่แจ้งผิดพลาดในหนังสือแจ้งการประเมินเพราะจำนวนที่แจ้งนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเพียงแต่มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์เท่านั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินนำหลักฐานจากการส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศของโจทก์จากกระทรวงพาณิชย์และจากแฟ้ม อี.ซี. 61 ของธนาคารแห่งประเทศไทยกับหลักฐานที่โจทก์ขายข้าวให้แก่ทางราชการมาคำนวณเป็นรายรับของโจทก์ในการประเมินภาษีเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ให้โจทก์นำสมุดบัญชีและหลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์มาให้ตรวจสอบ แต่โจทก์ไม่สามารถนำมาได้โดยอ้างว่าถูกไฟไหม้หมดแล้วการตรวจสอบรายได้ของโจทก์จึงต้องตรวจสอบจากหลักฐานการขายสินค้าของโจทก์ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศโดยตรวจสอบจากหน่ายราชการที่ซื้อข้าวจากโจทก์และเงินค่าขายสินค้าที่ผู้ซื้อในต่างประเทศโอนเงินมาให้โจทก์ โดยผ่านการครอบครองของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปรากฏหลักฐานตามแฟ้ม อี.ซี.61 เช่นนี้จึงเป็นวิธีเดียวที่จะตรวจสอบได้ การตรวจสอบรายได้ของโจทก์โดยวิธีดังกล่าวจึงชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย ที่โจทก์อ้างว่าการตรวจสอบจากแฟ้ม อี.ซี.61 มีการผิดพลาดนั้น นายวรวิทย์ สังหิตกุล พยานโจทก์ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ไปชี้แจ้งต่อพนักงานประเมินและต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เบิกความว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ให้โอกาสพยานไปตรวจสอบแฟ้ม อี.ซี.61 แต่พยานแจ้งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่จะไปติดต่อขอเอกสารจากกรมศุลกากรมาแทน ซึ่งต่อมาพยานก็แจ้งว่าไม่สามารถหาได้ ในชั้นพิจารณาของศาลโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า รายการในแฟ้ม อี.ซี.61 ไม่ถูกต้องอย่างไรที่ถูกควรเป็นอย่างไรส่วนที่โจทก์อ้างว่า ตัวเลขรายรับของโจทก์ที่ได้จากแฟ้ม อี.ซี.61 นั้นอาจคลาดเคลื่อนเพราะบัญชีของโจทก์ใช้เกณฑ์สิทธิมาโดยตลอด แต่จำเลยใช้วิธีประเมินโดยใช้เกณฑ์เงินสดและจำเลยนำรายรับซึ่งไม่อยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ประเมินมาทำการประเมินนั้น โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า เป็นเช่นนั้นจริง ฝ่ายจำเลยมีนางสาวโสภิณวิภาวสันตพฤกษ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยเบิกความว่า ได้ติดต่อขอคัดจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับจากการส่งสินค้าออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยในแฟ้ม อี.ซี.61ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และมีนายสุรินทร์ วีระสืบพงษ์เจ้าหน้าที่กองอุทธรณ์ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ได้นำตัวเลขที่นางสาวโสภิณวิภา วสันตฤกษ์ คัดมาเปรียบเทียบกับแฟ้มอี.ซี.61 ที่ยืมมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วมีผิดพลาดบางแห่งพยานได้แก้ไขให้ถูกต้องในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว จากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาดังกล่าว เห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีรายรับที่ต้องลงบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่วันที่21 ตุลาคม 2520-20 ตุลาคม 2521 เป็นเงิน512,255,285.46 บาท จริง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share