คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการคำนวณภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้น ทรัพย์สินที่บริษัทจำเลยใช้ในปี 2539 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2540 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระไปยังจำเลย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีของโจทก์ทำแบบแจ้งรายการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2540 ให้แก่จำเลยซึ่งได้รับทราบแล้ว หากไม่พอใจจำเลยก็ชอบที่จะยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการประเมินหรือขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ตามมาตรา 25 ได้ และหากยังไม่พอใจในการชี้ขาดการประเมินก็อาจนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องได้แต่ต้องกระทำภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามมาตรา 31วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเสียก่อนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตาม จำเลยย่อมไม่มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านหรือยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2540 ของโจทก์ไม่ชอบจำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 43(4) เนื่องจากจำเลยมิได้นำเงินมาชำระภายใน 4 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 43565ตำบลลำไทร อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จำนวน 1,611 ไร่ 96 ตารางวา และเป็นเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเลขที่ 29 หมู่ที่ 7 ตำบลลำไทร อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วยอาคารสโมสรเป็นตึก 3 ชั้น ชั้นที่ 1 พื้นที่2,982 ตารางเมตร ชั้นที่ 2 พื้นที่ 1,104 ตารางเมตร ชั้นที่ 3 พื้นที่ 814 ตารางเมตรรวม 4,900 ตารางเมตร เพื่อเป็นที่ติดต่อสอบถาม จำหน่ายบัตร จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์การเล่นกอล์ฟ มีล็อกเกอร์เก็บของและห้องน้ำสำหรับผู้มาใช้บริการมีพื้นที่ลาดคอนกรีต 10,000 ตารางเมตร ถนนลาดยาง 140,000 ตารางเมตร ลานจอดรถ 8,000 ตารางเมตร พื้นที่สนามกอล์ฟซึ่งเป็นที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ อีก 551,060 ตารางเมตร โดยจำเลยปรับสภาพพื้นดินผิดจากธรรมชาติ คือ ขุดหลุม ขุดบ่อ ทำเนินดินปรับแต่งเป็นพิเศษ วางท่อสำหรับรดน้ำต้นไม้ปลูกหญ้าเพื่อการตีกอล์ฟ สร้างถนน สร้างสะพานทำทางเดินเพื่อให้เป็นสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐานมี 4 โซน 36 หลุม มีซุ้มคอนกรีตสำหรับเป็นที่พักของผู้เล่นกอล์ฟเป็นระยะ ๆ มีร้านอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการตลอดจนมีอาคารเก็บพัสดุอุปกรณ์การบำรุงรักษาสนาม สนามกอล์ฟมิได้แยกออกจากบริเวณอาคารสโมสรซึ่งตามปกติจะใช้ไปด้วยกันกับอาคารสโมสรและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ โดยผู้ใช้บริการต้องเสียค่าบริการที่อาคารสโมสรก่อนลงเล่นกอล์ฟ มีลานจอดรถและลานคอนกรีตต่อเนื่องกับตัวอาคารสโมสรสำหรับเป็นที่จอดรถยนต์ของผู้มาใช้บริการมีถนนลาดยางสำหรับรถไฟฟ้าที่ให้บริการแก่ผู้เล่นกอล์ฟภายในสนาม จำเลยใช้ประโยชน์จากสนามเป็นสถานที่ให้บุคคลทั่วไปเข้าไปเล่นกอล์ฟโดยเสียค่าตอบแทน จำเลยจึงต้องยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2540 ขณะนั้นเป็นเวลาที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีเป็นเงินทั้งสิ้น 9,639,400 บาท คำนวณภาษีอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปีเป็นเงิน 1,204,925 บาท มีการแจ้งให้ตัวแทนจำเลยทราบ จำเลยรับทราบการประเมินโดยชอบวันที่ 4 ธันวาคม 2540 แต่มิได้ยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งการประเมินหรือขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2541 โจทก์รับมอบงานจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากส่วนอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จึงดำเนินการเรียกภาษีที่ค้างชำระจากจำเลยครบ 30 วัน จำเลยไม่นำเงินมาชำระนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ต้องชำระเป็นเงิน 120,492.50บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่โจทก์จำนวน 1,325,417.50 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง แต่พื้นที่สนามกอล์ฟมิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆสนามกอล์ฟเป็นทรัพย์ประธานมิใช่ส่วนประกอบ และสนามกอล์ฟจัดอยู่ในมาตรา 6(2)แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 มาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการคิดค่ารายปีเพื่อจัดเก็บภาษีตามมาตรา 16 มาใช้บังคับแก่สนามกอล์ฟได้คงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 6 และมาตรา 7ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนอำเภอลำลูกกาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเก็บภาษียังไม่เคยประเมินภาษีไปยังจำเลย จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ตามมาตรา 25 และ 26 ได้โจทก์ไม่มีอำนาจจัดเก็บภาษีเพราะขณะความรับผิดภาษีเกิดขึ้นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีจัดเก็บ โจทก์บรรยายฟ้องเคลือบคลุมมิได้อ้างอำนาจกฎหมายใดที่ทำให้โจทก์เกิดสิทธิหน้าที่ในการจัดเก็บ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์ข้อแรกว่า จำเลยได้รับแจ้งการประเมินให้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2540 แล้ว แต่มิได้โต้แย้งคัดค้านการประเมินหรือยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงไม่มีสิทธิโต้แย้งว่าการประเมินไม่ชอบหรือไม่ โจทก์มีนางอุษาง้าวหิรัญพัฒน์ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีจำเลยเบิกความว่าปี 2540 พยานทำงานอยู่ที่ส่วนอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จำเลยมิได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 พยานจึงทำแบบแจ้งรายการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 24ถึง 26 และแจ้งรายการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2540ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 ซึ่งนายวิชัย ธิมา ได้รับใบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 35 ส่วนจำเลยมีนายวิชัย ธิมา กรรมการบริษัทจำเลยเบิกความว่า โจทก์มิได้แจ้งการประเมินแก่จำเลย พยานลงชื่อในต้นขั้วใบแจ้งรายการประเมิน เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 24 ด้านหลัง เพราะเข้าใจว่ารับใบแจ้งรายการประเมินภาษีปี 2539 ดังปรากฏตามข้อความในใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 2 ว่าเป็นภาษีโรงเรือนปี 2539 พยานรับเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 วันที่ 4 ธันวาคม2540 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2540 จำเลยทำหนังสือถึงนายอำเภอลำลูกกาขอให้สั่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีจำเลยตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเห็นว่าสนามกอล์ฟของศูนย์การฝึกการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แต่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 18 วันที่ 16 ธันวาคม 2540 นายอำเภอลำลูกกามีหนังสือหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีว่าจำเลยจะต้องเสียภาษีตามกฎหมายใด ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 16 และ 17 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีโดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในปี 2539 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการทรัพย์สินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2540 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระไปยังจำเลยภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2540 คดีนี้นางอุษาพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีได้ทำแบบแจ้งรายการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ให้แก่จำเลย ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 24 ถึง 26และแจ้งรายการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 ซึ่งนายวิชัยกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยได้รับใบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 35 ใบแจ้งรายการประเมินดังกล่าวเป็นการแจ้งรายการประเมินภาษีประจำปีภาษี 2540 สำหรับทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในปี 2539 มิใช่เป็นการแจ้งรายการประเมินภาษีปี 2539 ดังที่จำเลยเข้าใจ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 โดยชอบแล้วหากจำเลยไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ชอบที่จะยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการประเมินหรือขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และหากจำเลยยังไม่พอใจการชี้ขาดการประเมิน ก็อาจนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องได้แต่ต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีทั้งสิ้น ซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเสียก่อนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามจำเลยย่อมไม่มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านหรือยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ของโจทก์ไม่ชอบ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 เป็นเงิน 1,204,925 บาท แก่โจทก์พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 43(4) เนื่องจากจำเลยไม่นำเงินมาชำระภายในสี่เดือนนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน เป็นเงินค่าภาษีเพิ่ม 120,492.50 บาท รวมเป็นเงิน1,325,417.50 บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นในข้ออื่นต่อไป เพราะมิได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายเป็นเงิน 1,325,417.50 บาท แก่โจทก์

Share