แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยสามารถหางานและส่งผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศได้ ความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนาและไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศได้ ตามฟ้องโจทก์แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายได้ โดยจำเลยทั้งสองได้เรียกเงินจากผู้เสียหายเป็นค่าตอบแทน และที่ผู้เสียหายให้เงินแก่จำเลยไปแล้วบางส่วนก็เพราะเชื่อตามที่จำเลยหลอกลวงการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ดังกล่าว ข้างต้น และแม้ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐาน ฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิด อันยอมความได้แล้วก็ตาม โจทก์ก็ยังมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2539 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยทั้งสองโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงนายกมลพันธ์พรหมดีราช ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองสามารถหางานและส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ หากผู้เสียหายประสงค์จะไปทำงานต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายคนละ 200,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองเป็นค่าตอบแทน ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาและไม่สามารถจัดส่งคนหางานหรือผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยทั้งสองได้รับเงิน 124,000 บาท จากผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลท่าแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร และแขวงตลาดบางเขนเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2869/2539 และ 2870/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30,82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 124,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษของจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2869/2539 และ 2870/2539ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82, 91 ตรีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91, 83 เรียงกระทงลงโทษ ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 3 ปี ฐานฉ้อโกง จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปีให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 124,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่ขอให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2869/2539และ 2870/2539 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคดีอยู่ในระหว่างภายในกำหนดยื่นฎีกา นายกมลพันธ์ พรหมดีราชผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้วศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีความผิดฐานฉ้อโกงออกเสียงจากสารบบความ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่กล่าวในฟ้อง จำเลยทั้งสองโดยทุจริตได้หลอกลวงนายกมลพันธ์ พรหมดีราช ผู้เสียหายว่าจำเลยทั้งสองสามารถหางานและส่งผู้เสียหายซึ่งเป็นคนงานไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ โดยผู้เสียหายต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 200,000 บาท เป็นค่าตอบแทนความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาจะส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแต่ประการใด จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไปจำนวน 124,000 บาท สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความแล้ว
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 หรือไม่ สำหรับความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงนายกมลพันธ์พรหมดีราช ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองสามารถหางานและส่งผู้เสียหายไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาและไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ตามฟ้องโจทก์ แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ส่วนความผิดตามมาตรา 91 ตรี นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยทั้งสองสามารถจัดหางานที่ประเทศญี่ปุ่นให้แก่ผู้เสียหายได้โดยจำเลยทั้งสองได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย 200,000 บาท เป็นค่าตอบแทน และที่ผู้เสียหายให้เงินแก่จำเลยทั้งสองไปแล้วจำนวน 124,000 บาท ก็เพราะผู้เสียหายเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ดังกล่าวข้างต้น และแม้ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้แล้วก็ตาม โจทก์ก็ยังมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไปได้ แต่ความผิดตามมาตรา 91 ตรี เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของมาตรา 91 ตรี แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยทั้งสองเกินกว่านี้ไม่ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้รอการลงโทษนั้น พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่สมควรรอการลงโทษให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือนส่วนความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นให้ยก