แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521 มาตรา 4 นว, 4 ทศ มีเจตนารมณ์กำหนดให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 5,100 บาท เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถดำรงชีพอยู่ได้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป กรณีผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญเกินกว่า 5,100 บาท หรือได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญหลายประเภทซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 5,100 บาท เห็นได้ว่ามีรายได้ต่อเดือนสูงพอสมควรเพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว จึงไม่มีสาเหตุที่จะต้องได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ช่วยเหลืออีก การพิจารณาเพื่อกำหนด ช.ค.บ. สำหรับผู้มีสิทธิได้รับบำนาญหลายประเภทจึงต้องรวมบำนาญหลายประเภทนั้นเข้าด้วยกัน จำเลยเป็นข้าราชการบำนาญได้รับบำนาญปกติและ ช.ค.บ. รวมกันเกิน 5,100 บาทอยู่แล้ว เมื่อรวมกับบำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอดของผู้ตายก็ยิ่งเกิน 5,100 บาท มากขึ้นไปอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มตามบทบัญญัติดังกล่าวอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 94,341.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 94,341.25 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์แถลงขอให้ศาลออกหมายเรียกนางสร้อยและนางสาวสุกัญญา ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ จำเลยเป็นข้าราชการบำนาญตำรวจได้รับบำนาญปกติในอัตราเดือนละ 6,190.80 บาท และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ในอัตราเดือนละ 396 บาท รวมเป็นเงินในอัตราเดือนละ 6,586.80 บาท จากกองการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจำเลยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจอิทธิพล เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2544 จ่าสิบตำรวจอิทธิพลถึงแก่กรรมขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ จำเลยเป็นผู้ได้รับบำนาญพิเศษในฐานะทายาทโดยธรรมของจ่าสิบตำรวจอิทธิพลผู้ตาย ในอัตราเดือนละ 638.75 บาท และ ช.ค.บ. ในอัตราเดือนละ 19 บาท ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521 ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2548 มีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2548 ให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2548 เป็นต้นไป โจทก์ได้จ่าย ช.ค.บ. เพิ่มให้แก่จำเลยในฐานะทายาทผู้รับบำนาญตกทอดในอัตราเดือนละ 4,442.25 บาท (5,100 บาท หักด้วยเงินบำนาญพิเศษ 638.75 บาท และ ช.ค.บ. 19 บาท) นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เป็นเวลา 12 เดือน 7 วัน เป็นเงิน 54,343.25 บาท และนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 เป็นเวลา 8 เดือน เป็นเงิน 35,538 บาท รวมเป็นเงิน 89,881.25 บาท และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 มีประกาศบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้เพิ่มอัตรา ช.ค.บ. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป โจทก์ได้จ่าย ช.ค.บ. เพิ่มตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลยในฐานะทายาทผู้รับบำนาญตกทอดในอัตราเดือนละ 255 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงิน 3,060 บาท และนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 เป็นเวลา 8 เดือน เป็นเงิน 2,040 บาท รวมเป็นเงิน 5,100 บาท รวมเงินที่โจทก์จ่าย ช.ค.บ. เพิ่มให้แก่จำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 94,981.25 บาท โดยนำฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเดชอุดม เลขที่บัญชี 317 – 1 – 62842 – 2 ของจำเลย
คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521 มาตรา 4 นว และมาตรา 4 ทศ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2548) หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521 มาตรา 3 และมาตรา 4 บัญญัติให้บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) คือ ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ และทายาทผู้รับบำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอด ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521 มาตรา 4 นว แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2548 บัญญัติว่า “ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพบำนาญพิเศษ หรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อรวมกับ ช.ค.บ. แล้ว ต่ำกว่าเดือนละ 5,100 บาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มอีกในอัตราเดือนละเท่ากับส่วนต่างของจำนวนเงิน 5,100 บาท หักด้วยจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และ ช.ค.บ. ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ” และมาตรา 4 ทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2548 บัญญัติว่า “ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม หรือผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษ เพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ หรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการอยู่แล้วในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ให้ได้รับ ช.ค.บ. ในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548เป็นต้นไป (1) ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และ ช.ค.บ. อยู่แล้ว ให้ได้รับช.ค.บ. เพิ่มขึ้นอีกในอัตราเดือนละร้อยละห้าของจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญและ ช.ค.บ. ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ (2) ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเฉพาะเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ให้ได้รับ ช.ค.บ. ในอัตราเดือนละร้อยละห้าของจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับการคำนวณ ช.ค.บ. ถ้ามีเศษของบาทให้ปัดทิ้ง” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์กำหนดให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 5,100 บาท เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถดำรงชีพอยู่ได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น กรณีผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญเกินกว่า 5,100 บาท หรือได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญหลายประเภทซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 5,100 บาท เห็นได้ว่ามีรายได้ต่อเดือนสูงพอสมควรเพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว จึงไม่มีสาเหตุที่จะต้องได้รับ ช.ค.บ. ช่วยเหลืออีก การพิจารณาเพื่อกำหนด ช.ค.บ. สำหรับผู้มีสิทธิได้รับบำนาญหลายประเภท จึงต้องรวมบำนาญหลายประเภทนั้นเข้าด้วยกัน กรณีของจำเลยเป็นข้าราชการบำนาญตำรวจได้รับบำนาญปกติในอัตราเดือนละ 6,190.80 บาท และ ช.ค.บ. ในอัตราเดือนละ 396 บาท จึงเกิน 5,100 บาท อยู่แล้ว เมื่อพิจารณารวมกับบำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอดของจ่าสิบตำรวจอิทธิพลผู้ตายก็ยิ่งเกิน 5,100 บาท มากยิ่งขึ้นไปอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับ ช.ค.บ. ตามที่โจทก์เบิกจ่ายให้จำเลยตามมาตรา 4 นว เป็นเงิน 89,881.25 บาท และ ช.ค.บ. ตามมาตรา 4 ทศ ที่โจทก์คำนวณคลาดเคลื่อนจ่ายเกินไป เป็นเงิน 4,460 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์เบิกจ่ายให้จำเลยเกินไปทั้งสิ้น 94,341.25 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 94,341.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ