คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างประกัน ผู้ประกันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเมื่อไม่ปฏิบัติก็ได้ชื่อว่าผิดสัญญา การที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์คดีระงับไปแล้วนั้น ผู้ประกันไม่พ้นความรับผิดผู้ประกันจะพ้นความรับผิดได้ก็ต่อเมื่อได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลตามสัญญาและศาลสั่งถอนประกันหรือปล่อยตัวไปโดยไม่มีเงื่อนไข

ย่อยาว

มูลกรณีเนื่องมาจากผู้ประกันทำสัญญาประกันตัวนายคี่เม็ง แซ่ตั้ง ผู้ต้องหาคดีผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คต่อศาลอาญาชั้นขอหมายขังเป็นเงิน 30,000 บาท ครบกำหนดส่งตัววันที่ 10 พฤศจิกายน 2512 ในวันครบกำหนดนั้น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอปล่อยผู้ต้องหาโดยอ้างเหตุว่าได้มีการถอนคำร้องทุกข์กันแล้ว คดีระงับศาลอาญาสั่งว่า “ปล่อยผู้ต้องหา แต่ให้ควบคุมผู้ต้องหาส่งศาลแขวงพระนครใต้ตามที่ขอมา” และวันเดียวกันนั้นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ประกันยื่นคำร้องว่าได้ให้ผู้ต้องหากลับบ้านแล้วขอผัดส่งตัว ศาลสั่งให้ผู้ประกันส่งตัวผู้ต้องหามาศาลในวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ถึงวันกำหนดนายประกันส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ศาลชั้นต้นถือว่าผู้ประกันผิดสัญญา สั่งปรับผู้ประกัน 30,000 บาท

ผู้ประกันอุทธรณ์ว่า ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว คดีระงับผู้ประกันไม่ควรรับผิด หากต้องรับผิดก็เพียง 10,200 บาทเท่าทุนทรัพย์ที่ผู้เสียหายอาจเสียหาย

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้ให้ปรับผู้ประกัน 10,200 บาท

ผู้ประกันฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ปรับสถานหนัก ขอให้ระงับการสั่งปรับ

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสัญญาประกันที่ผู้ประกันทำไว้ต่อศาลมีข้อความชัดแจ้งว่า ในระหว่างประกัน ผู้ประกันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา เมื่อไม่ปฏิบัติตามก็ได้ชื่อว่าผิดสัญญา ศาลสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญานั้นได้ กรณีเรื่องนี้ศาลอนุญาตให้ผู้ประกันส่งตัวผู้ต้องหามาศาลในวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ตามที่ผู้ประกันขอผัด เมื่อผู้ประกันไม่สามารถติดตามนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้จึงไม่มีทางหลุดพ้นความรับผิด การที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์คดีระงับไปแล้วนั้น ผู้ประกันไม่พ้นความรับผิดเพราะผู้ประกันจะหลุดพ้นความรับผิดได้ต่อเมื่อได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลและศาลสั่งถอนประกันหรือปล่อยตัวไปโดยไม่มีเงื่อนไข

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share