คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1920/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขอซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 3ออกใบสั่งจ่ายน้ำมันให้เจ้าหน้าที่ผู้ขับรถนำไปเติมน้ำมันจากปั๊มน้ำมันของโจทก์ การเติมน้ำมันแต่ละครั้งได้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ค่าน้ำมันโจทก์จะเรียกเก็บในเดือนถัดไป ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 2 ปี เมื่อการเติมน้ำมันดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1จะอ้างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นระเบียบภายในที่ฝ่ายจำเลยจะต้องถือปฏิบัติว่าจำเลยที่ 3มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ หากเป็นการผิดระเบียบก็ต้องว่ากล่าวกันเอง ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ตามพฤติการณ์ในการปฏิบัติการของจำเลยที่ 3 เป็นการแสดงออกว่ากระทำในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ใบสั่งจ่ายน้ำมันที่เป็นต้นฉบับสูญหายถูกทำลายไป สำเนาเอกสารก็รับฟังเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นกรมในรัฐบาลซึ่งเป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นตัวแทนได้ขอซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากโจทก์เป็นเงิน 425,992.58 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 447,291.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 425,992.58 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไม่เคยสั่งซื้อน้ำมันหรือรับน้ำมันที่ซื้อไปจากโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง แต่เคยเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงน้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากโจทก์ ซึ่งเป็นคนละจำนวนกับที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 425,992.58 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่าพันตำรวจตรีประเกียรติ พรหมธนะซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 7 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะเกิดเหตุได้ติดต่อขอซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากโจทก์ โจทก์ตกลงขายให้โดยจำเลยที่ 3จะออกใบสั่งจ่ายน้ำมันให้เจ้าหน้าที่ผู้ขับรถเป็นผู้นำใบสั่งจ่ายน้ำมันดังกล่าวไปเติมน้ำมันจากปั๊มน้ำมันของโจทก์และการเติมน้ำมันแต่ละครั้งได้ลงบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ส่วนค่าน้ำมันเดือนหนึ่งเป็นเงินเท่าใด โจทก์จะเรียกเก็บในเดือนถัดไป ซึ่งได้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่ปั๊มน้ำมันของโจทก์เป็นการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์ในทางราชการของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อคืออธิบดีกรมทางหลวงโดยการมอบอำนาจให้ผู้กำกับการกองตำรวจอีกต่อหนึ่งสารวัตรตำรวจทางหลวงไม่ได้เป็นผู้รับมอบอำนาจ และโจทก์ก็ไม่ได้ทำสัญญาการสั่งซื้อเป็นลายลักษณ์อักษรเพียงตกลงกันด้วยวาจาเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นระเบียบภายในที่ฝ่ายจำเลยจะต้องถือปฏิบัติหากเป็นการผิดระเบียบก็ต้องว่ากล่าวดำเนินการกันเองไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต และแม้สัญญาสั่งซื้อน้ำมันจะมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่โจทก์ก็ได้ส่งมอบน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 3 ตามใบสั่งจ่ายน้ำมันเป็นการชำระหนี้ไปแล้วดังนี้ตามพฤติการณ์ในการปฏิบัติการของจำเลยที่ 3 เป็นการแสดงออกว่ากระทำในนามของจำเลยที่ 1 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1
ปัญหาข้อที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เพียงใด… เห็นว่า ใบสั่งจ่ายน้ำมันจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกให้เจ้าหน้าที่ของตนนำไปเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันของโจทก์ แม้จะเป็นสำเนาเอกสาร แต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีประเกียรติ พรหมธนะ พยานโจทก์และร้อยตำรวจเอกชวน แก้วสองดวง พยานจำเลยว่า ต้นฉบับเอกสารเกี่ยวกับการเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันของโจทก์นี้ได้สูญหายทำลายไปแล้ว จึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา93(2) ส่วนเอกสารหมาย จ.6 และ จ.11 เป็นคู่ฉบับ มิใช่สำเนาเอกสารซึ่งยอดหนี้ค่าน้ำมันตามเอกสารดังกล่าวก็ตรงกับยอดหนี้ค่าน้ำมันที่โจทก์ลงไว้ในเอกสารหมาย จ.4 และพันตำรวจตรีประเกียรติพยานจำเลยก็เบิกความว่าตนได้มอบหมายให้สิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์เป็นผู้ตรวจสอบยอดเงินค่าน้ำมันกับโจทก์ตามใบสั่งจ่ายน้ำมันในแต่ละเดือน โดยสิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์เป็นผู้เซ็นรับมอบใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 และใบส่งของเงินเชื่อ ตามเอกสารหมาย จ.7ถึง จ.12 อันเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับค่าน้ำมันถูกต้องแล้ว โจทก์จึงส่งใบแจ้งหนี้พร้อมกับใบส่งของเงินเชื่อไปให้จำเลยที่ 3 ตั้งฎีกาเบิกจ่าย การปฏิบัติดังกล่าวก็ได้กระทำมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยไม่มีปัญหา กรณีจึงเชื่อได้ว่าหนี้ค่าน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์ตามฟ้อง สิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์ได้ตรวจสอบยอดเงินถูกต้องแล้ว จึงได้เซ็นชื่อรับใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 และใบส่งของเงินเชื่อตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 มาจากโจทก์ เหตุที่มิได้ตั้งฎีกาเบิกจ่ายให้โจทก์ก็เนื่องจากสิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์ได้หลบหนีราชการไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2528 และได้ทำลายเอกสารหลักฐานการเดิมน้ำมันกับโจทก์ ซึ่งร้อยตำรวจเอกชวน แก้วสองดวง ประธานกรรมการสอบสวนเรื่องสิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์หลบหนีราชการ และทำลายเอกสารที่เกี่ยวกับการเติมน้ำมันกับโจทก์ ก็เบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่า จากการสอบสวนข้อเท็จจริงทราบว่ายังไม่มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันที่ค้างชำระอยู่ 3 เดือน คือเดือนพฤศจิกาย และธันวาคม2527 กับเดือนมกราคม 2528 เป็นเงินประมาณสี่แสนบาทเศษ ซึ่งการแสวงหาหลักฐานในเรื่องนี้ย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏแน่ชัด มิใช่กระทำโดยเลื่อนลอย คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชวนจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง นอกจากนี้ตามหนังสือเรื่องส่งเอกสารเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่พันตำรวจโทนิมิตร มั่นจันทร์สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 คนปัจจุบันมีมาถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เอกสารหมาย จ.46 ก็แจ้งว่าไม่มีหลักฐานใบแจ้งหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2527 และเดือนมกราคม 2528 เนื่องจากสิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์ ไชยนิลพันธ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่น้ำมันอยู่เดิมนั้นได้เซ็นรับหลักฐานมาจากปั๊มแล้วและทำสูญหายไป ขณะนี้หนีราชการไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2528 ยังไม่มาปฏิบัติราชการ แม้โจทก์จะมิได้นำตัวพันตำรวจโทนิมิตรมาสืบเป็นพยาน แต่เอกสารหมาย จ.46 เป็นเอกสารราชการที่ฝ่ายจำเลยแจ้งให้ศาลทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งเอกสารในคดี ซึ่งต้องรายงานไปตามความเป็นจริง จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ได้หาจำต้องนำสืบพันตำรวจโทนิมิตรแต่อย่างใดไม่ ดังนี้เอกสารหมาย จ.46จึงสนับสนุนคำพยานหลักฐานโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าน้ำมันประจำเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2527 และเดือนมกราคม 2528 จากจำเลยที่ 1 ไปเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.9 ล.11และ ล.12 นั้น เห็นว่าเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นแบบรายการขอซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ อันเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1ทำขึ้นเอง ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.15 ปรากฏว่ายอดเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีจำนวนเพียง 172,787.54 บาท ไม่ตรงตามจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง และตามหลักฐานดังกล่าวที่จำเลยนำสืบอ้างอิงมาโจทก์และนางยุพินได้เบิกความว่า เป็นการชำระหนี้ค่าน้ำมันเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน 2527 ตามใบแจ้งหนี้และใบส่งของเงินเชื่อซึ่งเป็นคู่ฉบับตามเอกสารหมาย จ.6 จ.8 และ จ.10 โดยโจทก์ลงรายละเอียดการขายน้ำมันให้แก่จำเลยไว้ในเอกสารหมาย จ.45ซึ่งก็สมจริง เหตุที่เอกสาร ล.9 ล.11 และ ล.12 ระบุว่าโจทก์ได้รับค่าน้ำมันไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2527 และมกราคม2528 อาจเป็นดังที่นางสุพินเบิกความว่าใบแจ้งหนี้และใบส่งของเงินเชื่อในระยะหลังนั้น สิบตำรวจเอกวัชรศักดิ์ขอให้ทางฝ่ายโจทก์เว้นช่องวันเดือนปีไว้เพื่อสะดวกในการเบิกจ่ายเงิน ส่วนฉบับของโจทก์คงลงวันเดือนปีไว้ตามความเป็นจริง ดังนี้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 อาจลงวันเดือนปีคลาดเคลื่อนไปจากความจริงก็เป็นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้ตามฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายจะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3ตัวแทนจำเลยที่ 1 สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นเพื่อใช้กับยานพาหนะของสถานีตำรวจทางหลวง 4 นั้น ได้ความจากนางนิตยา ช้อนทอง พยานจำเลยว่า มีข้อตกลงกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายวัสดุเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะตำรวจทางหลวงสำหรับตรวจตราทางหลวงทั่วไปโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออก จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระค่าน้ำมันที่ตำรวจทางหลวงใช้ไป และทางปฏิบัติจำเลยที่ 2 ก็ชำระให้โจทก์ตลอดมาโดยตั้งฎีกาเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีนิติสัมพันธ์ที่ต้องจ่ายเงินค่าน้ำมันให้แก่โจทก์ตามข้อผูกพันที่มีอยู่จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share