คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1920/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ยากที่จำเลยจะให้การต่อสู้คดี เท่านั้น เป็นการให้การไม่แจ้งชัดว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่แจ้งชัดอย่างไร ถือได้ว่าไม่มีประเด็นแห่งคดีในข้อนี้
การที่จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนสะสม เป็นการให้ประโยชน์อื่นนอกเหนือไปจากค่าชดเชยซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง จำเลยจึงย่อมจะกำหนดวิธีจ่ายเงินทุนสะสมได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้น เมื่อจำเลยออกข้อบังคับกำหนดสิทธิของจำเลยที่จะหักค่าชดเชยออกจากเงินทุนสะสมได้จึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2409/2525)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยได้ตกลงกำหนดสวัสดิการซึ่งเป็นสภาพการจ้างให้แก่ลูกจ้างตามข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนสะสม ฯ กำหนดสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินทุนสะสมเมื่อออกจากงาน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุ แต่จำเลยจ่ายเงินทุนสะสมให้โจทก์ขาดจำนวนไป ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินทุนสะสมที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เนื่องจากข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนสะสม ฯ ระบุผลประโยชน์ภายใต้เงินทุนสะสมให้รวมตลอดถึงเงินชดเชยหรือเงินอื่นใดที่จำเลยจะต้องจ่ายให้ตามผลของกฎหมาย และหากมีการจ่ายเงินชดเชยในลักษณะดังกล่าว เงินจำนวนที่จ่ายไปนั้นให้หักจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสะสม และกำหนดไว้ว่าเป็นผลประโยชน์ที่ไม่ซ้ำซ้อนกันกล่าวคือไม่ว่าจะจ่ายเป็นเงินทุนสะสมหรือเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย พนักงานผู้นั้นจะมีสิทธิได้รับชำระเพียงจำนวนเดียว ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้งสองจำนวนรวมกัน เมื่อโจทก์เกษียณอายุ จำเลยจึงได้นำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทุนสะสมที่มีอยู่และได้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์รับไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์อีก และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เงินทุนสะสมเป็นเงินประเภทอื่นแตกต่างไปจากค่าชดเชย การที่จำเลยมีข้อบังคับว่าการจ่ายเงินทุนสะสมให้ถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยจึงไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะหักเงินทุนสะสมไปจ่ายเป็นค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินทุนสะสมที่จำเลยหักไปจ่ายเป็นค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยให้การไว้เพียงว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ยากที่จำเลยจะให้การต่อสู้คดีเท่านั้น เป็นการให้การไม่แจ้งชัดว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่แจ้งชัดอย่างไร ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ถือได้ว่าไม่มีประเด็นแห่งคดีในข้อนี้ ถึงแม้ศาลแรงงานกลางจะยกขึ้นวินิจฉัยก็หาเป็นเหตุให้จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ต่อมาได้ไม่
ข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนสะสมสำหรับพนักงานชาวเอเชียของจำเลยข้อ ๒๑ มีความว่า “เงินชดเชย ในกรณีที่ครบเกษียณอายุ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ผลประโยชน์ที่ได้รับภายใต้เงินทุนสะสมนี้จะถือว่าได้รวมเงินชดเชยหรือเงินอื่นใดที่คล้ายกันที่บริษัทอาจต้องจ่ายให้ตามผลของกฎหมาย ฯลฯ เงินจำนวนที่ได้จ่ายไปนั้นจะหักออกจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนนี้ ” และข้อ ๒๒ มีความว่า “ผลประโยชน์ที่ไม่ซ้ำซ้อนกันในกรณีที่มีกฎหมาย ข้อตกลงสัญญาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานที่ให้ลูกจ้างได้รับผลประโยชน์ หรือรายได้ที่มีลักษณะคล้ายกับผลประโยชน์หรือรายได้ของกองทุนเงินสะสมนี้ ผลประโยชน์หรือรายได้ดังกล่าวของกองทุนเงินสะสมนี้จะลดลงตามจำนวน เนื่องจากผลของกฎหมายหรือคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตามดังกล่าวข้างต้น” ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิของจำเลยที่จะหักค่าชดเชยออกจากเงินทุนสะสมได้ และการที่จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนสะสม ฯ ก็เป็นการให้ประโยชน์อื่นนอกเหนือไปจากค่าชดเชยซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จำเลยจึงย่อมจะกำหนดวิธีการจ่ายเงินทุนสะสมให้แก่ลูกจ้างได้ตามที่เห็นสมควร ข้อบังคับดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและจำเลยมีสิทธิหักเงินทุนสะสมไปจ่ายเป็นค่าชดเชยได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๐๙/๒๕๒๕ นายเกษม วิรัฐโท โจทก์ บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด จำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share