คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายโจทก์แถลงต่อศาลว่า โจทก์นำพยานมาศาลสองปาก คือ ตัวทนายโจทก์ และ ร. เมื่อประเด็นรับฟังกันได้เป็นส่วนมาก โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานสองปากนี้ และติดใจสืบตัวโจทก์ กับ ว. เพียง 2 ปาก วันนี้ไม่มาศาล โจทก์ขอเลื่อนคดีทนายจำเลยมิได้คัดค้านประการใด จึงเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ต่อ ดังนี้ จำเลยจะมาคัดค้านว่าศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ไม่ชอบหาได้ไม่ และการที่โจทก์นำพยานที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบเข้าเบิกความต่อศาลทนายจำเลยก็ได้ซักค้านพยานปากนี้โดยมิได้โต้แย้งประการใด แม้ต่อมาจำเลยจะได้ยื่นคำแถลงคัดค้าน ก็ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะรับฟังพยานดังกล่าว
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คเอาเอง ทั้งไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ใดลงวันที่ในเช็คไม่ถูกต้องและปราศจากอำนาจ จึงต้องฟังว่าวันที่ปรากฏในเช็คนั้นเป็นวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขึ้นเงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ลงในเช็ค และฟ้องคีดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้สลักหลังได้
ตามคำแถลงรับของคู่ความ จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คทุกฉบับประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงหรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามที่จำเลยยอมรับ และจำเลยรับต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทราจำนวน 11 ฉบับ รวมเป็นเงิน 55,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลัง ครั้นถึงกำหนดวันสั่งจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งหมด อ้างว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” บ้าง “บัญชีปิดแล้ว” บ้าง ดังภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คท้ายฟ้องโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันครบกำหนดของเช็คแต่ละฉบับ จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,031 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 56,031 บาทพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 55,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณา ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เช็ค 11 ฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายให้โจทก์แต่จ่ายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งบุคคลที่ปรากฏชื่อในเช็คได้นำไปเรียกเก็บเงินแล้ว แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คตามฟ้อง โจทก์ก็ฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1ออกเช็คไม่ใช้เพื่อชำระหนี้ แต่ออกเช็คให้เป็นประกันในการเล่นแชร์เมื่อวันที่ 10ตุลาคม 2513 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คทั้ง 11 ฉบับ คดีจึงขาดอายุความจำเลยที่ 1 ออกเช็คให้แก่ผู้ที่ปรากฏชื่อในเช็คเพราะโจทก์เป็นผู้จัดการ (หัวหน้า)วงแชร์ จำเลยที่ 1 เปียแชร์ (ประมูลดอกเบี้ย) วงนี้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องออกเช็คเท่าจำนวนผู้ที่เล่นแชร์แต่ยังไม่ได้เปียแชร์ โดยกรอกข้อความต่าง ๆ ตลอดจนจำนวนเงินไว้ทุกฉบับ แต่ยังไม่ได้ลงวันเดือนปีในเช็ค เพื่อเป็นประกันว่า ถ้าผู้เล่นคนใดเปียแชร์ได้ในคราวต่อไป จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินสดจำนวน 5,000 บาทไปมอบให้นายวงแชร์แล้วรับเช็คที่ออกให้นั้นกลับคืน ถ้าไม่นำเงินไปขอแลกเช็คคืนจำเลยที่ 1 ก็ต้องลงวันเดือนปีในเช็คนั้น ๆ เพื่อผู้เปียแชร์จะได้นำเช็คนั้น ๆ ไปเบิกเงินจากธนาคาร

ก่อนสืบพยาน คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คทุกฉบับ จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็ค และโจทก์ได้ทวงถามแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามเช็ค 7 ฉบับ ๆ ละ 5,000บาท เป็นเงิน 35,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 5 มิถุนายน 2516 ทนายโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่า โจทก์นำพยานมาศาล2 ปาก คือตัวทนายโจทก์และนายรำพึง เมื่อประเด็นรับกันได้เป็นส่วนมาก โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานสองปากนี้ และติดใจสืบตัวโจทก์กับนายวิทยาเพียง 2 ปาก วันนี้ไม่มาศาล โจทก์ขอเลื่อนคดี ทนายจำเลยที่ 2 ก็มิได้คัดค้านประการใดจึงเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ต่อ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะมาคัดค้านว่าศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ไม่ชอบ หาได้ไม่ และการที่โจทก์นำพยานที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบเข้าเบิกความต่อศาล ทนายจำเลยที่ 2ก็ได้ซักค้านพยานปากนี้โดยมิได้โต้แย้งประการใด แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะได้ยื่นคำแถลงคัดค้านลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2516 ก็ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะรับฟังพยานดังกล่าว

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คเอาเอง ทั้งไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ผู้ใดลงวันที่ในเช็คไม่ถูกต้องและปราศจากอำนาจ ฉะนั้น เมื่อเช็คหมาย จ.1, จ.3, จ.5, จ.7, จ.9, จ.11, จ.13, จ.15, จ.17, จ.18, จ.19ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2515, 3 กรกฎาคม 2515, 20 ตุลาคม 2514, 20 มีนาคม2515, 21 กุมภาพันธ์ 2515, 15 ตุลาคม 2514, 20 มกราคม 2515, 28 มิถุนายน2515, 20 เมษายน 2515, 31 สิงหาคม 2514, 19 ตุลาคม 2514 ตามลำดับจึงต้องฟังว่า วันที่ปรากฏในเช็คนั้นเป็นวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขึ้นเงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ลงในเช็ค และฟ้องคดีนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้สลักหลังได้

ส่วนฎีกาของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำแถลงรับของคู่ความจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คทุกฉบับ ประเด็นที่ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงหรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามที่จำเลยที่ 2 ยอมรับ และจำเลยที่ 2 รับต่อไปว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คหมาย จ.1, จ.9, จ.15และ จ.18 เป็นเงินฉบับละ 5,000 บาท รวม 20,000 บาท กับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share