แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายอำเภอ เจ้าหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเงินค่าทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ได้วินิจฉัยให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ตาย จ่ายเงินค่าทดแทนและค่าทำศพแก่โจทก์ซึ่งเป็นภริยาผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตาย จำเลยอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ว่านายอำเภอไม่มีสิทธิวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินรายนี้ เพราะโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และรับเงินค่าทดแทนไปจากจำเลยแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีสิทธิวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทน หรือไม่ต้องจ่ายนั่นเอง หาเป็นการวินิจฉัยนอกเหนืออำนาจไม่
ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า เหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะเกิดระเบิดเป็นอุบัติเหตุ และสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ จำเลยไม่นำคดีมาสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนฯ ข้อ 14 ต้องถือว่าเรื่องเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ เมื่อโจทก์มาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนนั้น จำเลยจะโต้แย้งอีกว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตาย และสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับใช้ได้ หาได้ไม่
โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปจากจำเลยจำนวนหนึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะวินิจฉัยว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ และจำเลยจะโต้แย้งในชั้นศาลอีกมิได้แต่เงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไปแล้วก็ชอบที่จะหักออกจากเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ได้
(วรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนและค่าทำศพนายทองสามีโจทก์ที่ 1และบิดาโจทก์ที่ 2 ซึ่งตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในโรงน้ำแข็งของจำเลย ตามคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19
จำเลยต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด และว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ หากจำเลยจะต้องชำระเงินแก่โจทก์ ก็มีสิทธิหักเงินที่ชำระไปแล้วได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเดือนละ 467.50 บาทมีกำหนด 60 เดือน นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2510 และค่าทำศพ 2,550 บาทแก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 แต่งงานกับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรหนึ่งคนคือ โจทก์ที่ 2 ผู้ตายเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่คนเฝ้าเครื่องโรงน้ำแข็ง คืนเกิดเหตุ หม้อพักแอมโมเนียเกิดระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้ผู้ตายและลูกจ้างอื่นของจำเลยตาย 13 คน โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินจากจำเลย 3,500 บาท ได้ทำเอกสารการรับเงินต่อหน้าปลัดอำเภอความว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินจากจำเลยรวมกับรับไปก่อนแล้วเป็นเงิน 4,100 บาท ไม่ติดใจฟ้องร้องเพื่อขอรับเงินทดแทนอีก ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินจากจำเลยอีก 700 บาทต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทำศพและค่าทดแทน นายอำเภอเมืองตรังในฐานะเจ้าหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเงินค่าทดแทน วินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เป็นรายเดือน และค่าทำศพด้วยจำเลยอุทธรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในฐานะเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมอบหมายพิจารณาแล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ว่า อันตรายที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเดือนละ 467.50 บาท มีกำหนด 60 เดือน นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2510 และให้จ่ายค่าทำศพ 2,550 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีสารสำคัญ 2 ประการ คือ (1) จำเลยอ้างว่าไม่ควรต้องรับผิดชอบ เพราะเหตุเกิดระเบิดเนื่องมาจากลูกจ้างเมาสุรา และ (2) เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิที่จะวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินรายนี้เพราะนางพวง (โจทก์) ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับเงินค่าทดแทนไปจากนายจ้างแล้วเป็นเงิน 4,100 บาท สำหรับข้อ (2) นั้นจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ควรต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพราะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และระงับข้อพิพาทไปแล้วนั่นเอง หรือจะกล่าวอย่างสั้น ๆ คือ จำเลยเถียงว่าไม่ควรต้องจ่าย เพราะมีสัญญาประนีประนอมยอมความระงับไปสิ้นแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดก็จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์หรือไม่ และเมื่อจำเลยตั้งประเด็นมาในอุทธรณ์เช่นนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ย่อมต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความรายนี้ใช้ได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าใช้ได้โจทก์ก็เรียกอะไรไม่ได้อีกแล้วจากจำเลย แต่ถ้าเห็นว่าใช้ไม่ได้ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมีสิทธิวินิจฉัยประเด็นในอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยว่า จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนหรือไม่ต้องจ่ายนั่นเอง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมีสิทธิวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้แล้ว การที่จำเลยฎีกาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดตรังวินิจฉัยนอกเหนืออำนาจและเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อฟังว่าผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมีสิทธิวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ก็มีปัญหาต่อไปว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไว้คือ (1) เหตุที่เกิดระเบิดเป็นอุบัติเหตุ มิใช่เพราะลูกจ้างมึนเมาสุรา หรือเนื่องจากเหตุอื่นอันเป็นความผิดของลูกจ้างที่เข้าลักษณะข้อยกเว้นและ (2) สัญญาประนีประนอมยอมความรายนี้เป็นโมฆะ แต่จำเลยมิได้ขอให้ศาลพิจารณาปัญหาทั้งสองนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามข้อ 14 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนเช่นนี้ จำเลยจะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวในชั้นศาลอีกได้หรือไม่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าว จำเลยจะต้องนำคดีมาสู่ศาลภายใน 30 วันตามข้อ 14 แห่งประกาศของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว การที่จำเลยไม่นำคดีมาสู่ศาลภายใน 30 วัน ต้องถือว่าเรื่องเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ จำเลยจะมาโต้แย้งในชั้นศาลอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ตายกับพวกดื่มสุรามึนเมาละเลยหน้าที่อันเป็นการประมาทและสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับใช้ได้และทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่อีกหาได้ไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนและค่าทำศพเกิดจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิทธิพิเศษที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ 14ก็เป็นเรื่องเฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น การที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยไป 4,100 บาท ตามใบรับตามเอกสารหมาย ล.3 จึงเป็นเงินค่าทดแทนตามประกาศคณะปฏิวัตินั่นเอง และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้วินิจฉัยว่า จะหักเงินจำนวนนี้ให้จำเลยไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์เป็นรายเดือน ๆ ละ 467.50 บาท มีกำหนด 60 เดือนนับแต่วันที่ 5 เมษายน 2510 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ปรากฏว่ายังมิได้หักเงินที่โจทก์รับไปแล้ว 4,100 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าชอบที่จะหักเงิน 4,100 บาทที่จำเลยจ่ายไปแล้วให้จำเลยด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้หักเงินที่โจทก์รับจากจำเลยแล้วออก 4,100 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์