คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ลากิจและลาป่วยเกินกำหนด 45 วันต่อปี ได้ทำหนังสือทัณฑ์บนไว้แก่จำเลยนายจ้างว่าถ้าไม่ได้ขึ้นค่าจ้างในปีต่อไป ยอมให้เลิกจ้างได้ ดังนี้ แม้ว่าข้อบังคับของจำเลยจะกำหนดให้ลูกจ้างต้องอุทิศเวลาให้แก่กิจการของจำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ลากิจและลาป่วยเกิน 45 วันต่อปี อีก ก็มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นแต่เพียงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปีเท่านั้น ส่วนหนังสือทัณฑ์บนเป็นเพียงการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าว่า หากถูกงดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 2 ปีติดต่อกันอาจถูกเลิกจ้างได้ จึงไม่ใช่หนังสือตักเตือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อโจทก์ลากิจและลาป่วยเกิน 45 วันต่อปีโดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดเพราะลากิจและลาป่วยมากและไม่ถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งโดยชอบของนายจ้าง ทั้งไม่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย และต้องบอกกล่าวล่วงหน้า.
จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ลูกจ้างประจำรายวัน ทุกวันที่ 14 และวันที่ 28 ของเดือน เมื่อจำเลยบอกเลิกการจ้างวันที่ 19กันยายน 2528 การเลิกจ้างย่อมมีผลตามกฎหมายในวันที่ 14 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยบอกเลิกจ้างต่อโจทก์ในวันที่ 19 กันยายน 2528 โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2528 และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม รวม 9 วัน เพราะช่วงระยะเวลาดังกล่าวตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ เสาร์อาทิตย์รวม 4 วัน และต้องจ่ายค่าครองชีพเป็นเวลา 13 วัน
เงินบำเหน็จ เงินประกัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้จ่ายตั้งแต่วันเลิกจ้าง โจทก์จึงต้องทวงถามก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยจำเลยจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๔ และ ๒๘ ของเดือน ทำงานสัปดาห์ละ ๕ วัน หยุดวันเสาร์อาทิตย์ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ เป็นต้นไป โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าแต่จำเลยยังไม่ได้จ่ายบำเหน็จให้โจทก์ ไม่ได้จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ระหว่างทำงานจำเลยหักค่าจ้างโจทก์ไว้ ๑ เดือนเป็นเงินประกันและยังไม่ได้คืนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์คำนวณเงินบำเหน็จไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ฯ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เพราะประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานโดยลากิจลาป่วยเกิน ๔๕ วันต่อปี และได้ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ทำผิดอีก แต่โจทก์ได้ประพฤติผิดทัณฑ์บนอันถือได้ว่าฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลย และคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จถือว่าบำเหน็จได้รวมค่าชดเชยไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยอีกการที่โจทก์ประพฤติผิดทัณฑ์บนถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง และละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเป็นอาจิณ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยให้มีคำสั่งเลิกจ้างให้โจทก์ทราบตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๘ โดยให้มีผลวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ ถือว่าได้บอกกล่าวล่วงหน้าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพราะเงินบำเหน็จและเงินประกันนั้นจำเลยพร้อมที่จะจ่ายตั้งแต่วันเลิกจ้างขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ เงินประกัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย ข้อกฎหมาย ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ลากิจและลาป่วยเกิน ๔๕ วันต่อปี เป็นการไม่อุทิศเวลาให้จำเลยและฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย และโจทก์ได้ทำหนังสือทัณฑ์บนว่าถ้าโจทก์ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างในปี ๒๕๒๘ ยอมให้เลิกจ้างได้ ซึ่งเป็นหนังสือตักเตือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า การลากิจและลาป่วยเกิน ๔๕ วันต่อปีของโจทก์มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นแต่เพียงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาความดีความชอบในปีนั้นเท่านั้นหนังสือทัณฑ์บนเป็นเพียงการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าว่า หากถูกงดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ๒ ปี ติดต่อกันอาจถูกเลิกจ้างได้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตักเตือน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เมื่อการลากิจและลาป่วยของโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดเนื่องจากลากิจและลาป่วยมาก การเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่เป็นการจงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างทั้งไม่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทุกวันที่ ๑๔ และ ๒๘ ของเดือนการที่จำเลยบอกเลิกการจ้างต่อโจทก์วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๘ โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาล่วงหน้าโดยชอบแล้ว นั้นเห็นว่า ตามมาตรา ๕๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ฯลฯ กรณีของโจทก์จำเลยจะต้องบอกเลิกการจ้างก่อนวันที่ ๑๔ หรืออย่างช้าภายในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๘ จึงจะมีผลเลิกจ้างในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ ได้เมื่อจำเลยบอกเลิกการจ้างในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๘ เช่นนี้ การเลิกจ้างย่อมมีผลตามกฎหมายวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๘ รวม ๙ วัน เพราะช่วงระยะเวลาดังกล่าวตรงกับวันเสาร์อาทิตย์รวม ๔ วัน ค่าจ้างเป็นเงิน ๖๗๕ บาท ค่าครองชีพเป็นเวลา ๑๓ วันเป็นเงิน ๑๗๓.๓๓ บาท สำหรับเงินบำเหน็จ เงินประกันและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้จ่ายตั้งแต่วันเลิกจ้างดังเช่นค่าชดเชย โจทก์จึงต้องทวงถามก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทวงถาม จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๘๔๘.๓๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องและให้จำเลยเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินบำเหน็จและเงินประกันนับแต่วันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share