คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จ่ายไม่ถูกต้องจากจำเลยศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหายอ้างเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังนี้ เป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุจากการเลิกจ้างของจำเลยเป็นมูล ซึ่งเหตุนี้โจทก์อาจยกขึ้นได้เมื่อฟ้องจำเลยในคดีก่อนแต่มิได้ ฟ้องรวมไปในคราวเดียวกันกลับยกขึ้นฟ้องในภายหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลย ขณะอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ผ่านมาไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมีการหยุดงานสม่ำเสมอเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจา ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31 จำเลยเลิกจ้างไม่ได้ทั้งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่มีงานทำ และโจทก์ยังมีสิทธิได้รับโบนัสมีสิทธิได้รับรางวัลการทำงานนานเป็นทองคำโจทก์ทวงถามค่าเสียหายแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตราฐานที่จำเลยและสหภาพแรงงานฯ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันไว้ ขณะจำเลยเลิกจ้างโจทก์คงโต้แย้งคัดค้านเฉพาะว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้องเท่านั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มจากที่จำเลยจ่ายให้เมื่อเลิกจ้างคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มแก่โจทก์ โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นการกล่าวอ้างตามอำเภอใจและไม่ใช่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดรวมทั้งดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมา และขอตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้ไปร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31แต่จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ลาป่วยอยู่สม่ำเสมอ เป็นการเลิกจ้างโดยมีสาเหตุที่มีผลงานไม่เป็นที่พอใจของจำเลยและเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์ได้ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้องจากจำเลย ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำนวนค่าชดเชยที่ให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีก ถึงแม้จะเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอ้างเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31 และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ก็เป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุจากการเลิกจ้างของจำเลยเป็นมูล เหตุดังกล่าวนี้โจทก์อาจยกขึ้นและฟ้องจำเลยได้เมื่อฟ้องจำเลยตามคดีก่อนของศาลแรงงานกลางแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ฟ้องรวมไปในความเดียวกันกลับยกขึ้นมาฟ้องในภายหลัง จึงเป็นฟ้องซ้ำ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และจำเลยต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share