คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกันเองในการยอมความโดยศาลมิได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น หากต่อมาปรากฏว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1596 ได้ (อ้างฎีกาที่ 293/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เกิดบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ เด็กหญิงวนิดา ดวงสงค์ อายุ ๑ ปี ๘ เดือน ต่อมาโจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยตกลงกันว่าโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรและจำเลยยอมให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ ๑๐๐ บาท โจทก์เห็นสมควรเพราะขณะนั้นจำเลยได้เงินเดือน ๗๕๐ บาท และค่าครองชีพต่ำกว่าปัจจุบัน ปรากฏตามบันทึกหลังทะเบียนหย่าท้ายฟ้อง จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเงิน ๑,๒๐๐ บาท ปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่เคยได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จึงขอเรียกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๒๐๐ บาทจนกว่าเด็กหญิงวนิดาจะมีอายุครบ ๗ ปี และเมื่ออายุ ๘ ปี จำต้องส่งเข้าโรงเรียนซึ่งต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะนี้จำเลยมีเงินเดือน ๑,๔๖๐ บาท จึงขอเรียนเป็นเดือนละ ๓๐๐ บาทจนกว่าเด็กหญิงวนิดาจะบรรลุนิติภาวะ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นเงิน ๑,๒๐๐ บาทและค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันฟ้องถึงวันที่เด็กหญิงวนิดามีอายุครบ ๗ ปี เดือนละ ๒๐๐ บาท กับต่อจากนั้นเดือนละ ๓๐๐ บาทจนกว่าเด็กหญิงวนิดาจะบรรลุนิติภาวะให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยยอมให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ ๑๐๐บาทจริง จำเลยส่งเงินให้โจทก์ทุกเดือน โจทก์เป็นข้าราชการครู ได้เงินเดือน ๑,๒๒๐ บาท มิได้เดือนร้อน หากโจทก์ไม่มีความสามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ขอให้จำเลยรับบุตรไปเลี้ยงดูเอง ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน โจทก์แถลงว่า การฟ้องคดีนี้นางประเสริฐคือตัวโจทก์ที่แท้จริงฟ้องโดยอาศัยสัญญาตามบันทึกทะเบียนหย่า ตามฟ้องที่ใช้ชื่อบุตรนำหน้าเป็นเพราะความเข้าใจผิด โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำนวน ๑,๒๐๐ บาทจากจำเลยแล้ว แต่ยังติดใจเรียกร้องเพิ่มเติมตามที่กล่าวในฟ้อง เพราะขณะทำสัญญา ค่าครองชีพยังไม่แพง ปัจจุบันจำเลยมีเงินเดือน ๑,๔๖๐ บาท โจทก์มีเงินเดือน ๑,๐๑๕ บาท จำต้องขอค่าอุปการะเพิ่ม
จำเลยแถลงว่า ปัจจุบันโจทก์จำเลยมีเงินเดือนตามที่โจทก์แถลง แต่จำเลยก็มีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดา ไม่อาจเพิ่มให้ได้
โจทก์แถลงขอสืบพยานในข้อที่ว่าราคาข้าวของที่ใช้เลี้ยงดูบุตรสูงขึ้นและต้องมีภาระเลี้ยงดูบิดามารดาเช่นกัน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การขอนำสืบของโจทก์เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๔ แม้ค่าครองชีพจะสูงขึ้นก็ไม่ใช่พฤติการณ์ที่จะนำมาเป็นเหตุขอเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูเกินกว่าที่ตกลงกันได้ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ ๑๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าเด็กหญิงวนิดาจะบรรลุนิติภาวะ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกันเองในการยอมความ โดยศาลมิได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น หากต่อมาปรากฏว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๖ ได้ ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓/๒๕๐๖ โจทก์ชอบที่จะนำสืบในประเด็นดังกล่าวได้
พิพากษายืน

Share