คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1916/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาเพียงประการเดียว ข้อเท็จจริงในความผิดฐานมีอีเฟดรีนเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายและฐานขายอีเฟดรีนเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดทั้งสองฐานที่ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
ความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานดังกล่าวหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ โดยระบุวรรคสองของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นการแก้ไขเล็กน้อยแต่ความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ได้เมื่อศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ ทั้งประจักษ์พยานและพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีนี้แล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญ ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และบางคนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามหน้าที่มีการดำเนินการวางแผนเพื่อจับกุมจำเลยเป็นขั้นตอนและจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลางเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์จะทำพยานหลักฐานเท็จปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลย เมื่อส่งผงขาวของกลางไปตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าเป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณสารบริสุทธิ์หนัก 1,298.2 กรัม เกินกว่า 20 กรัม ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทสันนิษฐาน โดยเด็ดขาดของกฎหมายและจำเลยไม่อาจจะนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยถูกจับกุมได้ขณะครอบครองเฮโรอีนของกลาง และตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยมีลักษณะร่วมกันเป็นขบวนการกับบุคคลจำนวนมากในการค้าขายเสพติด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
การรวบรวมพยานหลักฐานและนำพยานเข้าสืบในระบบกล่าวหาเป็นเรื่องของโจทก์เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้องหรือเป็นบริสุทธิ์ เมื่อศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้องแล้วก็พิพากษาลงโทษจำเลย โดยไม่จำต้องฟังคำเบิกความหรือดูอากัปกิริยาของสายลับก็ได้
แม้โจทก์มิได้นำสายลับมาสืบแสดงให้ศาลได้พิจารณาและวินิจฉัยคำเบิกความและอากัปกิริยาของสายลับ และให้โอกาสจำเลยได้ถามค้านค้นหาความจริงเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาของโจทก์ ก็หาได้ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์อื่น ๆ มีพิรุธสงสัยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 เวลากลางวันจำเลยกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันมีอีเฟดรีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 15,000เม็ด น้ำหนัก 1,272 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้น้ำหนัก 193.7 กรัม เกินกว่า12 กรัม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายอันเป็นการขาย และมีเฮโรอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน4 ห่อ น้ำหนัก 1,396 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้น้ำหนัก 1,298.2 กรัม เกิน100 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมด้วยอีเฟดรีนและเฮโรอีนดังกล่าว กับวิทยุติดตามตัว โฟนลิ้งค์หมายเลขเครื่อง 1090361 จำนวน 1 เครื่อง กระเป๋าหนังหูหิ้วสีดำจำนวน 1 ใบและกระเป๋าผ้าร่มแบบเป้สีดำ จำนวน 1 ใบ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่โทษในความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 เพียงบทเดียว จำคุก15 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15, 66 วรรคสอง ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) ฐานขายอีเฟดรีนจำคุก 10 ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิตเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาเพียงประการเดียว ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้นเห็นว่าในความผิดฐานมีอีเฟดรีนเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายและฐานขายอีเฟดรีนเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

สำหรับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานดังกล่าวหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็จำต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสองหากศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วพิพากษายืน ปัญหานี้จึงจะถึงที่สุด เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้โดยระบุวรรคสองของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เพิ่มขึ้นแม้จะเป็นการแก้ไขเล็กน้อย แต่ความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ทั้งประจักษ์พยานและพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีนี้แล้ว เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญ ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และบางคนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามหน้าที่ มีการดำเนินการวางแผนเพื่อจับกุมจำเลยเป็นขั้นตอนและจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลางเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์จะทำพยานหลักฐานเท็จปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยเมื่อส่งผงขาวของกลางไปตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าเป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณสารบริสุทธิ์หนัก 1,298.2 กรัม เกินกว่า20 กรัม ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสองให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานโดยเด็ดขาดของกฎหมาย และจำเลยไม่อาจจะนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยถูกจับกุมได้ขณะครอบครองเฮโรอีนของกลาง และตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยมีลักษณะร่วมกันเป็นขบวนการกับบุคคลจำนวนมากในการค้าขายยาเสพติด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้โจทก์มิได้นำสายลับมาสืบแสดงให้ศาลได้พิจารณาและวินิจฉัยคำเบิกความและอากัปกิริยาของสายลับ และให้โอกาสจำเลยได้ถามค้านค้นหาความจริงเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาของโจทก์ ก็หาได้ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์อื่น ๆ มีพิรุธสงสัยไม่ เพราะว่าการรวบรวมพยานหลักฐานและนำพยานเข้าสืบในระบบกล่าวหาเป็นเรื่องของโจทก์เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้องหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้องแล้วก็พิพากษาลงโทษจำเลยได้ โดยไม่จำต้องฟังคำเบิกความหรือดูอากัปกิริยาของสายลับก็ได้ ซึ่งคดีนี้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบและพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

พิพากษายืน

Share