คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งระหว่างทางมีการบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปในกระท่อมแต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 2 เอามือรัดคอผู้เสียหายและดึงเอากุญแจมาส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ เมื่อมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามาช่วย จำเลยทั้งสองก็เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายขับหลบหนีไป ก่อนจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปมีจำเลยคนหนึ่งพูดว่าให้ผู้เสียหายไปเอารถจักรยานยนต์คืนที่โรงเรียนวัด บ. แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายขับไปใช้ชั่วคราวโดยตั้งใจจะคืนให้ภายหลัง มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 339 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ประกอบมาตรา 83ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกคนละ 5 ปีพิเคราะห์รายงานสืบเสาะแล้ว จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะถืออำนาจตามผู้ปกครองโดยไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี หลังเกิดเหตุยังไม่สำนึกในการกระทำโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่าอีกคดีหนึ่ง อนาคตน่าห่วงใย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2)ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดคนละ 1 ปี นับแต่ถูกควบคุมตัว

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง,391 ประกอบด้วยมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยทั้งสองมีอายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 จำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 2,000บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือน เป็นเวลา 1 ปี โดยให้พนักงานคุมประพฤติตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะจำเลยทั้งสองเพื่อหาสารยาเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัวตามมาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 30 วัน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 107

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองพบผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 2 ฮ-3000 ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนบรมราชชนนี ร้อยตำรวจเอกยงยศ ซื่อสัตย์คมสัน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ซึ่งได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุกรุงธนให้สกัดจับคนร้ายที่ก่อเหตุชิงทรัพย์ที่สถานีตำรวจนครบาลท่าข้าม ได้พบว่าจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์มีหมายเลขทะเบียนตรงตามที่รับแจ้งมา จึงจับจำเลยทั้งสองมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่บ้านตาโชติระหว่างทางมีการบังคับให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในกระท่อมในซอยแยกแต่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมจำเลยที่ 2 เป็นคนเอามือรัดคอผู้เสียหายที่ 2และดึงเอากุญแจมาส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่เมื่อมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างคันหนึ่งเข้ามาช่วยจำเลยทั้งสองก็เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ขับหลบหนีไป แต่ผู้เสียหายที่ 2เองเบิกความต่อไปอีกว่า ก่อนจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปมีจำเลยคนหนึ่งพูดว่าให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปเอารถจักรยานยนต์คืนที่โรงเรียนวัดบางกระดี่ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกยงยศ ซื่อสัตย์คมสัน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับจำเลยว่า ขณะจับกุมจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองเล่าให้ฟังว่าผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับบิดาจำเลยที่ 1 หรือบิดาจำเลยที่ 2 พยานจำไม่ได้แน่ และเพื่อเป็นการแก้แค้น จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปส่ง พอถึงบริเวณกลางทางมีการพูดขู่ว่าจะข่มขืนผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวได้ทิ้งรถจักรยานยนต์ไว้ จำเลยทั้งสองจึงขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมาเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์เป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 2 ขับไปใช้ชั่วคราวเท่านั้นโดยตั้งใจจะคืนให้ภายหลัง จะเห็นได้ว่าหากจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะเอาทรัพย์ไปเป็นการถาวรอันเป็นลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าทรัพย์จริงแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องบอกผู้เสียหายที่ 2 เช่นนั้น ซึ่งดูเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของคนร้ายอย่างยิ่ง สำหรับสาเหตุที่เกิดเรื่องครั้งนี้ก็น่าเชื่อว่าเพราะจำเลยทั้งสองโกรธแค้นที่มีข่าวลือว่าผู้เสียหายที่ 2ไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับบิดาจำเลยที่ 1 จึงก่อเหตุคดีนี้ขึ้นจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาพฤติการณ์แห่งคดี ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2ไปใช้ชั่วคราว มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 ไป อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเป็นดังนี้จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share