คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์มีหน้าที่ติดตามทวงถามลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แก่โจทก์ ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ปล่อยปละละเลยจนคดีขาดอายุความ ทำให้โจทก์เสียหายและเรียกค่าเสียหาย เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้เมื่อสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อนาย ส. ขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2525 และสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อคู่กรณีที่ขับรถชนรถยนต์ของโจทก์ขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2524ดังนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้นับแต่วันที่หนี้แต่ละรายดังกล่าวขาดอายุความ โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 24 มีนาคม 2536 จึงเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์มีหน้าที่ติดตามทวงถามลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1รับเรื่องให้ติดตามหนี้จากนายสำรวย เฉลียวผุดผ่อง ที่ก่อความเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการจนเรื่องขาดอายุความ และกรณีรถยนต์ของโจทก์ถูกรถของบุคคลภายนอกชนได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 รับเรื่องมาแล้ว แต่มิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อเรื่องขาดอายุความแล้วจึงส่งเรื่องให้ทนายความของโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความทำให้โจทก์เสียหายทั้ง 2 กรณี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ หนี้ของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์และมีหน้าที่ติดตามทวงถามลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ปล่อยปละละเลยจนคดีขาดอายุความ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานและเรียกค่าเสียหาย อายุความของสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาดังกล่าวย่อมเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้เป็นต้นไป เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อนายสำรวยขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2525 และสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อคู่กรณีที่ขับรถชนรถยนต์ของโจทก์ที่นายตุ๋ยเป็นคนขับขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2524 ดังนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้นับแต่วันที่หนี้แต่ละรายดังกล่าวขาดอายุความมิใช่นับจากวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ติดตามทวงถามหนี้จากนายสำรวย หรือวันที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ติดตามทวงถามหนี้จากคู่กรณีที่ขับรถชนรถยนต์โจทก์ดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 24 มีนาคม 2536 จึงเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
พิพากษายืน

Share