คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลายฯ มาตรา 136 บัญญัติว่า คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) หรือ (2) นั้น ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด กฎหมายดังกล่าวมิได้ยกเว้นว่าหนี้ใดจะต้องหลุดพ้นเพราะคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย จึงแปลได้ว่า หนี้สินทุกชนิดที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนฟ้องอย่างไรก็คงเป็นหนี้อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายเคยมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เพราะยื่นพ้นกำหนด 2 เดือนตามพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯ มาตรา 91 แต่เมื่อศาลชั้นต้นยกเลิกการล้มละลายแล้วหนี้ดังกล่าวย่อมกลับสภาพเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อันทำให้เจ้าหนี้มีสิทธินำมาฟ้องบังคับคดีได้ รวมถึงการนำมาขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายคดีใหม่ได้ด้วย หาใช่ไม่มีมูลหนี้ที่จะนำมาขอรับชำระหนี้ได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดแล้ว ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากร
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจพยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิเรียกร้องกับลูกหนี้อีกต่อไปจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากมูลหนี้ดังกล่าว ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ 2,483,388 บาท เจ้าหนี้เคยฟ้องลูกหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวเป็นคดีล้มละลายที่ศาลชั้นต้น ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.1/2527 ศาลดังกล่าวมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ยื่นพ้นกำหนด 2 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่รับคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่าลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(2)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และต่อมาเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้เดียวกับคดีดังกล่าวเป็นคดีนี้อีก ศาลชั้นต้นในคดีนี้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้เดียวกันอีก ปัญหาว่า เจ้าหนี้มีอำนาจขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 136 บัญญัติว่า “คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) หรือ (2) นั้น ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด” นั้น จะเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวมิได้ยกเว้นไว้ว่าหนี้ใดจะต้องหลุดพ้นเพราะคำสั่งยกเลิกการล้มละลายจึงแปลได้ว่าหนี้สินทุกชนิดที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนฟ้องอย่างไรก็คงเป็นหนี้อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น สำหรับหนี้ของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ในคดีนี้แม้จะได้ความว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายของศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.1/2527 เคยมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เพราะยื่นพ้นกำหนด 2 เดือน ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นยกเลิกการล้มละลายแล้วหนี้ดังกล่าวย่อมกลับสภาพเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อันทำให้เจ้าหนี้มีสิทธินำมาฟ้องบังคับคดีได้ รวมถึงการนำมาขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ด้วย หาใช่ไม่มีมูลหนี้ที่จะนำมาขอรับชำระหนี้ได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 2,483,388 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 107(2)

Share