แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โจทก์ที่ 1 เป็นคู่ความและโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวจึงจำต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วยเมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาท คดีนี้เป็นคดีแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาท โจทก์ทั้งสามฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิดมาในฟ้องเดียวกันแต่แยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมาเป็นจำนวนชัดเจน และโจทก์ที่ 3 เรียกร้องค่าเสียหายมาไม่เกินสองหมื่นบาทย่อมอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 คงอุทธรณ์ได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์ที่ 3 มิได้เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 3จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก เมื่อโจทก์ที่ 3ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องถือว่าคดีเฉพาะของโจทก์ที่ 3ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 86,805.09บาท 22,268.17 บาท และ 8,148.87 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 75,909 บาท 19,473 บาทและ 7,126 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท เหตุที่รถชนกันเกิดจากโจทก์ที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 เป็นเพียงเจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ เพราะไม่ได้ร่วมกระทำความผิดหรือใช้จำเลยที่ 1 ไปกระทำผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน41,910 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 19,473 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และจำนวน 6,626 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับ นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก่ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน 1 ก-8929 กรุงเทพมหานครส่วนโจทก์ที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร3 ง-9251 แล้วรถทั้งสองคันเกิดชนกัน เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ที่ 2 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายแก่กาย รถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 3 ได้รับความเสียหายพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครใต้ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14615/2527 คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาทและวินิจฉัยว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งของคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นคู่ความ และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวจำต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วยดังนั้น เมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุด โดยศาลฎีกาพิพากษาว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาท คดีนี้เป็นคดีในส่วนแพ่ง ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถประมาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ 3 นั้น คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิดมาในฟ้องเดียวกัน แต่แยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมาเป็นจำนวนชัดเจน และโจทก์ที่ 3 เรียกร้องค่าเสียหายมาไม่เกินสองหมื่นบาทย่อมอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224คงอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมาย และมีปัญหาข้อกฎหมายต้องพิจารณาในชั้นฎีกาว่า คดีสำหรับโจทก์ที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องนำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ เห็นว่า โจทก์ที่ 3 มิได้เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องในคดีอาญาดังกล่าวและถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 3 คดีสำหรับโจทก์ที่ 3 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ ต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ที่ 3 ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องถือว่าคดีเฉพาะของโจทก์ที่ 3 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ฎีกาของโจทก์ที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสามต่อไป
พิพากษายืน.