คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1912/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าทรัพย์ที่ยึดขายทอดตลาดในคดีแพ่งเป็นของใครโจทก์มิได้ยกขึ้นว่ามาแต่แรก เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 110 หมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้เว้นแต่การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และการบังคับคดีนั้นให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 290 วรรคสาม ว่าให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอเฉลี่ยก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ของลูกหนี้ที่ถูกยึดในคดีแพ่งได้มีการขายทอดตลาดไปพ้นระยะเวลา 14 วันก่อนศาล มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจโอนเงินในคดีแพ่งมาในคดีล้มละลาย เพราะการบังคับคดีแพ่งสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 111 ที่ว่า ถ้าได้รับคำแจ้งความว่าได้มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก่อนที่ การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินไว้ และถ้าต่อไปศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดหักเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมเหลือเท่าใดให้ส่งเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้นเป็นกฎหมายที่วางวิธีปฏิบัติของ เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่การบังคับคดีจะใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เพียงใด ย่อมเป็นไปตามมาตรา 110 กล่าวคือ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินไว้แล้ว แต่ต่อมาปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้หลังจาก การบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์ไปแล้วการบังคับคดีนั้นย่อมใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
ปัญหาเรื่องลูกหนี้โอนทรัพย์สินใน 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายเป็นคนละประเด็นกับปัญหาเรื่องลูกหนี้ถูกบังคับคดีซึ่งจะใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เพียงใด

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดห้างจำเลย และพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๓ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้นายกิมจี้ แซ่แต้ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้าง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายกิมจี้เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๓
โจทก์ยื่นคำร้องว่า นายกิมจี้ถูกยึดทรัพย์ในคดีแพ่งแดงที่ ๓๙๖๙/๒๕๑๒ และมีการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม และ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ซึ่งโจทก์ในคดีแพ่งยังมิได้รับเงินไป โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขอโอนเงินค่าขายทรัพย์มาในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กลับสั่งว่าการบังคับคดีแพ่งสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ไม่อาจโอนได้ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ขอให้ยกคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอโอนเงินค่าขายทรัพย์นั้นมา
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายกิมจี้เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๓ แต่ปรากฏว่าคดีแพ่งแดงที่ ๓๙๖๙/๒๕๑๒ นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดเสร็จเรียบร้อยไปตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ แล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๐ วรรค ๒ บัญญัติว่าการบังคับคดีนั้นให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรค ๓ ได้กำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอเฉลี่ยไว้โดยให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา ๑๔ วันนับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ฉะนั้น การบังคับคดีแพ่งดังกล่าวจึงสำเร็จบริบูรณ์ไปตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายกิมจี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจโอนเงินในคดีแพ่งดังกล่าวมาในคดีล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๐ วรรคแรก ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ขอโอนเงินมาจึงชอบแล้ว
ฎีกาของโจทก์ข้อ ก. ที่ว่า ทรัพย์ที่ยึดขายทอดตลาดไม่ใช่ทรัพย์ของนายกิมจี้ แต่เป็นทรัพย์ของห้างจำเลยนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ามาแต่แรกเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ฎีกาข้อ ข. ที่ว่า ขณะที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนการยึดมาเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้จ่ายเงินให้โจทก์ในคดีแพ่งไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะโอนเงินมาได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๑๑๑ เป็นกฎหมายที่วางวิธีปฏิบัติของเจ้าพนักงานบังคับคดีให้กักเงินไว้ก่อนในกรณีที่ได้รับคำแจ้งความว่าได้มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก่อนที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เท่านั้น แต่ปัญหาเรื่องการบังคับคดีแพ่งจะใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เพียงใด ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๐ เป็นหลักกล่าวคือ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินไว้แล้วแต่ปรากฏต่อมาว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้หลังจากที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์ไปแล้ว การบังคับคดีนั้นก็ย่อมใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ โดยเฉพาะกรณีนี้โจทก์เพิ่งจะยื่นคำร้องขอให้นายกิมจี้ล้มละลายตามห้างจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่การบังคับคดีแพ่งได้สำเร็จบริบูรณ์ไป ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ แล้ว ที่เคยยื่นไว้ก่อนครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๓ โจทก์ก็ถอนเสีย แล้วมายื่นใหม่ภายหลัง ซึ่งเป็นความล่าช้าของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีทางจะอ้างพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๑ มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้เลย
ฎีกาของโจทก์ข้อ ค. ที่ว่า กฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษแม้แต่การโอนใน ๓ ปี ศาลยังมีอำนาจเพิกถอนได้ แต่การบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้จ่ายเงินให้โจทก์ในคดีแพ่งรับไป ฉะนั้น จึงชอบที่จะโอนเงินนั้นมาในคดีล้มละลายได้ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินใน ๓ ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายนั้น จะเพิกถอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องการโอนโดยไม่สุจริตหรือไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งไม่มีประเด็นในคดีนี้ประเด็นที่พิพาทกันแห่งคดีมิใช่เรื่องลูกหนี้โอนทรัพย์ไป แต่เป็นเรื่องลูกหนี้ถูกบังคับคดี ปัญหามีเพียงว่าการบังคับคดีแก่ลูกหนี้จะใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เพียงใดเท่านั้นฎีกาของโจทก์ทุกข้อจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share