คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1911/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายและฐานร่วมกันขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยรู้อู่แล้วว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 มาตรา 85 และ 86 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วยกัน โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสองได้ผลิตเครื่องผลิตก๊าซจากแกลบสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงตามกรรมวิธีการประดิษฐ์ของโจทก์ซึ่งตรงกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว การพิพากษาคดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1กระทำความผิดอันเป็นการกระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้คิดค้นและได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องผลิตก๊าซจากแกลบ ตามสิทธิบัตรเลขที่ 285 ลงวันที่22 ตุลาคม 2528 ต่อมาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2529 ถึงเดือนมกราคม 2530 จำเลยทั้งสองได้ผลิตเครื่องผลิตก๊าซจากแกลบสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงตามกรรมวิธีการประดิษฐ์ของโจทก์ ซึ่งตรงกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ แล้วได้ขายสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวให้แก่นายพงษ์ศักดิ์ ชัยวิรัตน์ เจ้าของโรงสีชัยรัตน์ค้าข้าวโดยรู้อยู่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการทดลองคิดค้นเครื่องผลิตก๊าซจากแกลบ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโรงงานรวมตลอดจนค่าขาดโอกาสในการมีรายได้จากการขายสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเป็นระยะเวลา 4 ปี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 2,000,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองหยุดผลิตและขายสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ตลอดอายุสิทธิบัตร
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตเครื่องผลิตก๊าซจากแกลบสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงตามกรรมวิธีในสิทธิบัตรของโจทก์จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดค้านและประดิษฐ์เครื่องผลิตก๊าซจากแกลบสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างสมบูรณ์เป็นคนแรกในประเทศไทยและยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ก่อนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองระบุข้อถือสิทธิมากจึงทำให้คำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยทั้งสองได้รับการอนุมัติล่าช้ากว่าของโจทก์ สิ่งประดิษฐ์ของจำเลยทั้งสองให้ผลในทางปฏิบัติที่แตกต่างกันกับของโจทก์ ทั้งมีความซับซ้อนและสมบูรณ์กว่าสิ่งประดิษฐ์ของโจทก์ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึง2,000,000 บาท เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ของโจทก์เครื่องหนึ่งราคาไม่ถึง 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางฮวย แซ่ปังภรรยาผู้ตายในฐานะผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน600,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับคำขอให้จำเลยทั้งสองหยุดการผลิตและขายสิ่งประดิษฐ์ซึ่งใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ให้ยก เพราะการกระทำที่ขอให้ห้ามเป็นความผิดอยู่แล้ว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และฐานร่วมกันขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 และ 86 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 738/2532 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1กระทำความผิดอันเป็นการกระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share