แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อ 1 ตอนท้ายระบุว่า “…หากจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ภายใน15 วัน นับแต่วันที่ชำระเงินครบถ้วน ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมด และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 2ออกกันคนละครึ่ง”ก็ตาม แต่ภาษีธุรกิจเฉพาะมิใช่ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่เป็นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบกับ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วย การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร(ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 บังคับให้ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ตกอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งภาษีประเภทนี้มิใช่เป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการจะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/10 เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเป็นผู้รับผิดชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งเกิดจากลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์เอง แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2กำหนดให้ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมดออกกันคนละครึ่ง ก็จะแปลให้จำเลยที่ 2ต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะครึ่งหนึ่งด้วยไม่ได้ เพราะเท่ากับให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระภาษีในกิจการของโจทก์นอกเหนือไปจากภาษีที่ต้องจ่ายในขณะที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น