แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นฎีกาหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532ใช้บังคับ การพิจารณาว่าโจทก์จะฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา ในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาไม่ได้แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองบ้านพร้อมที่ดิน ส.ค.1เลขที่ 86 ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกลับ อำเภอหนองโดนจังหวัดสระบุรี โจทก์มีสิทธิครอบครองและอยู่อาศัยจนถึงวันที่ 6มิถุนายน 2531 ตามคำสั่งศาลจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน2531 จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้มีดตัดฟันต้นไผ่ในบริเวณบ้านเสียหาย20 ลำ ราคา 300 บาท และร่วมกันมีมีดบุกรุกเข้าไปในบ้านโจทก์โดยไม่มีเหตุสมควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขและร่วมกันลักไม้ไผ่ 4 ลำ ราคา 30 บาท ของโจทก์โดยฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 362, 365, 336, 83, 90 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2532หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ใช้บังคับ การพิจารณาว่าโจทก์จะฎีกาได้หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกาคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงฎีกาไม่ได้แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13
พิพากษายกฎีกาโจทก์.