แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์รับราชการอยู่ที่ฝ่ายวิจัยและประเมินผล สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม ไม่มีหน้าที่จัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม และสำนักงาน ก.พ. ก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผลสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวนอกเวลาราชการ การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้น จึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง และในการเขียนหนังสือคู่มือทั้งสองเล่มของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่ม หาใช่สำนักงาน ก.พ. ไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง หากจำเลยที่ 1 นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ 1 จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15 (1) หากจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 (1) แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน
หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 ในหัวข้อความหมายของการประเมินผล ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม รูปแบบของรายงาน แนวทางเบื้องต้นในการวิเคราะห์โครงการฝึกอบรม การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล และการวางแผนประเมินผล มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้ในการเผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบธุรกิจเอกชน เพราะตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียน แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้กำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานราชการ จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 โดยมีคณะกรรมการบริหารของสำนักพิมพ์พิจารณาในขั้นต้น และมีบรรณาธิการตรวจคุณภาพ ในการจัดพิมพ์หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในระยะต่อมานั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และ (2)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสอง ถึงมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้จำเลยที่ 1 จะเขียนหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันการศึกษาโดยไม่ได้หากำไร ซึ่งเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคสอง (1) และ (7) แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
การคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันอาจถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร
หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรม จัดอยู่ในหนังสือประเภทขนาด 8 หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อจำเลยที่ 1 นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม 26 รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ประการแรกของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
เมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่าย จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองประกาศคำพิพากษาโดยย่อและขอขมาโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐและมติชนเป็นเวลา ๓ วัน ติดต่อกัน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือทั้งสองเล่มเป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจัดจำหน่ายหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” เพื่อแสวงหากำไร และเป็นการแข่งขันกับโจทก์ จึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ โจทก์เรียกค่าเสียหายจากรายได้หรือผลกำไรในงานที่จำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา (วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๔) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ขณะที่โจทก์เขียนหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” นั้น โจทก์รับราชการอยู่ที่ฝ่ายวิจัยและประเมินผล สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้น จึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่โจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวนอกเวลาราชการ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์เขียนหนังสือโดยอาศัยเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “การประเมินผลการฝึกอบรม” ของ Dr.David R.Moers และคัดลอกมาจากหนังสืออื่น ๆ ด้วย โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในหนังสือทั้งสองเล่มที่โจทก์เขียนขึ้นนั้น เห็นว่า ในการเขียนหนังสือของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” หาใช่สำนักงาน ก.พ. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๔ ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคสอง บุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น กล่าวโดยเฉพาะก็คือ หากจำเลยที่ ๑ นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ ๑ จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ ๑ เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๕ (๑) หากจำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๒๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อพิจารณาหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ. ๓๐ แล้ว จะเห็นได้ว่า ในหัวข้อความหมายของการประเมินผล ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม รูปแบบของรายงาน แนวทางเบื้องต้นในการวิเคราะห์โครงการฝึกอบรม การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล และการวางแผนการประเมินผล มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ ๓๐ หน้า จากจำนวนประมาณ ๑๕๐ หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในการเผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรแบบธุรกิจเอกชน เพราะตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน ส่วนจำเลยที่ ๑ ก็ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียนตามเอกสารหมาย จ. ๔๖ แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้หากำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตาม เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนมหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานราชการ จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ โดยมีคณะกรรมการบริหารของสำนักพิมพ์พิจารณาในขั้นต้น และมีบรรณาธิการตรวจคุณภาพ ในการจัดพิมพ์หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ ๑ ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในระยะต่อมานั้น หลังจากโจทก์ร้องเรียนการกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ แล้ว สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือ ๒ เล่มที่โจทก์เขียน อาจจะเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงาน ก.พ. ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงขอให้มหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีหนังสือตอบข้อหารือว่า งานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยข้าราชการในหน่วยงานของรัฐ หรือในการจ้าง หรือตามคำสั่ง หรือในความควบคุมของหน่วยงานของรัฐ ลิขสิทธิ์ย่อมตกเป็นของหน่วยงานของรัฐนั้น นอกจากจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๔ ทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับมหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ ก็ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาการร้องเรียนให้โจทก์ทราบว่า มหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ ได้หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เห็นว่า หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทบวงมหาวิทยาลัยเห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ เป็นการเรียบเรียงหนังสือเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน ไม่มีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า หรือหากำไรเป็นส่วนตัว จึงยังไม่สมควรดำเนินการทางวินัย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมา และจำเลยที่ ๑ จะกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในหนังสือ ๒ เล่มของโจทก์ดังกล่าวหรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่มีเหตุผลอันควรโต้แย้งและแต่ละฝ่ายอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ มหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง ก็ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาข้อยุติของปัญหานี้อย่างเต็มที่แล้ว หาได้นิ่งเฉยต่อปัญหาดังกล่าวไม่ ทั้งมหาวิทยาลัยจำเลยที่ ๒ ก็ได้จัดจำหน่ายหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” โดยเปิดเผย หาได้ปิดบังซ่อนเร้นแต่ประการใดไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” จำเลยที่ ๑ เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจัดจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้า อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ (๑) และ (๒) อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาประการต่อมาที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่นั้น ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๓ ประการ คือ (๑) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา ๓๒ วรรคสอง และมาตรา ๓๓ บัญญัติไว้ (๒) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (๓) การกระทำนั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้จำเลยที่ ๑ เขียนหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ ๑ ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษาโดยไม่ได้หากำไรซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑) และ (๗) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยจำเลยที่ ๑ ได้รับค่าตอบแทนงานเขียนดังกล่าว แม้จะได้รับในอัตราต่ำสุดก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนการคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอน ตามสมควรและมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ จะคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ ๓๐ หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ ๑๕๐ หน้า อันถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมากจึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร
สำหรับปัญหาการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น ได้ความว่า หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ ๑ เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรมขนาดกว้างประมาณ ๑๐ นิ้วครึ่ง ยาว ๗ นิ้ว อันจัดอยู่ในหนังสือประเภทขนาด ๘ หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ ๑ สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อจำเลยที่ ๑ นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ ๑ ดังที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม ๒๖ รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่ม ในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ ๑ คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เข้าหลักเกณฑ์ประการแรกของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ส่วนปัญหาหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สองประการหลังนั้น ปรากฏว่าหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” มีการจัดพิมพ์จำหน่ายที่ร้านขายหนังสือด้วย โดยจำเลยที่ ๑ ได้ทำซ้ำและดัดแปลงข้อความและสาระสำคัญต่าง ๆ จากหนังสือของโจทก์จำนวนประมาณ ๓๐ หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ ๑๕๐ หน้า ทั้งภายหลังเมื่อมีการฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ ก็มิได้ดำเนินการให้ระงับการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ ๑ จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่าย จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของของจำเลยที่ ๑ เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๒ วรรคสอง (๑) และ (๗) และมาตรา ๓๓ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑,๕๐๐ บาท แทนโจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ทั้งสองศาลให้เป็นพับ.