คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19074/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อนว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตัวแทนโจทก์ไม่ได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี อีกทั้งไม่สามารถให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามบริษัทให้เพียงพอแก่การตรวจสอบได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าบริษัทต่างประเทศทั้งสามจะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ และกรณีของโจทก์มิใช่เป็นการขอคืนชัดแจ้งซึ่งไม่จำต้องตรวจสอบตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539 ข้อ 13.1 แต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ปรากฏยอดเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามข้อ 13.2 การที่จำเลยยังไม่อาจคืนภาษีให้ได้จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 53,722,186.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงิน 43,609,094.97 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก และค่าดำเนินธุรกรรมทางการเงินจำนวน 95,000 บาท ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าคดีถึงที่สุด หากจำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยนำเงินที่จะต้องชำระคืนแก่โจทก์ดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับภาษีอื่นที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 43,609,094.97 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากไม่ชำระให้โจทก์มีสิทธินำไปหักกลบลบหนี้กับค่าภาษีอากร (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่ค้างชำระแก่จำเลยได้ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเสียภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น โดยทั่วไปต้องปฏิบัติตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) และเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ในมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร โดย (1) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 69 เฉพาะกิจการขนส่งผ่านประเทศต่างๆ ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 52) ดังนั้น การเสียภาษีเงินได้ของบริษัทดังกล่าวทั้งแบบ ภ.ง.ด. 50 และ แบบ ภ.ง.ด. 52 ต่างก็มีฐานภาษีจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเอง และรายได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ภ.ง.ด. 50 และ แบบ ภ.ง.ด. 52 ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้เป็นรายได้จำนวนเดียวกัน ที่ต่างกันก็แต่เฉพาะการคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 50 จะคำนวณจากฐานกำไรสุทธิ ส่วนการคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 52 จะคำนวณอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องจากการรับขนคนโดยสารนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 69 เฉพาะกิจการขนส่งผ่านประเทศต่างๆ ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด. 52) นั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจะต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อนว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และตามระเบียบของกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร พ.ศ.2539 ข้อ 13 กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบตามความยากง่ายของคำร้องขอคืนภาษี ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า ตัวแทนโจทก์ไม่ได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี อีกทั้งไม่สามารถให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามบริษัทให้เพียงพอแก่การตรวจสอบความถูกต้องของการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ขอคืนได้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามจะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนหรือไม่ อย่างไร การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยจะต้องตรวจสอบบัญชีและเอกสารต่าง ๆ การที่จำเลยยังไม่อาจคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวให้แก่บริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามโดยมีโจทก์เป็นตัวแทนนั้น จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
การที่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่า กรณีของโจทก์มิใช่กรณีที่ขอคืนชัดแจ้งซึ่งไม่จำต้องตรวจสอบตามระเบียบดังกล่าวตามข้อ 13.1 อันจะสามารถสั่งคืนได้ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง แต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อันได้แก่กรณีที่ต้องตรวจสอบให้ปรากฏยอดเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามข้อ 13.2 ซึ่งผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ ตามระเบียบกรมสรรพากรดังกล่าวข้อ 13.2 (2) ให้ดำเนินการตรวจให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าวให้ขอขยายเวลาได้อีกหนึ่งครั้งไม่เกิน 3 เดือน ความเห็นของเจ้าพนักงานของจำเลยจึงชอบด้วยระเบียบดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาการตรวจสอบดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เช่นกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยให้เหตุผลว่า โจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้ตัวแทนมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ แต่มิได้กำหนดถึงสิทธิของตัวแทนไว้ว่ามีเพียงใด การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรม เมื่อโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบและเสียภาษี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิต่างๆ เช่น การขอเงินภาษีอากรที่ชำระผิดประเภทคืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นนี้ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share