คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902-1909/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้โจทก์มาอยู่เวร ณ สถานที่ประกอบกิจการของจำเลยหากเครื่องจักรของจำเลยเสียซึ่งต้องทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ต่อไป จำเลยก็จะมีคำสั่งหรือใบแจ้งงานให้โจทก์ซ่อมแซมและโจทก์ต้องลงเวลาการทำงานในบัตรลงเวลา ถ้าเครื่องจักรไม่เสียโจทก์ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ได้รับเบี้ยเลี้ยงในอัตราคนละ 40 บาท ดังนี้การที่โจทก์มาอยู่เวรดังกล่าว ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำในกิจการของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดแล้วแต่กรณี.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งแปดสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยระหว่างปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2529 จำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 16.30 นาฬิกาถึง 18.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นโดยจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งแปดไม่ครบ ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีการทำงานของโจทก์ทั้งแปดท้ายฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ยังขาดแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดสำนวนให้การว่าโจทก์ทำงานเป็นช่าง จำเลยได้ให้ลูกจ้างที่เป็นช่างมานอนที่บ้านพักใกล้โรงงานเพื่อรอทำงานล่วงเวลาในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้งานโดยจำเลยได้จัดตารางการมานอนให้ และจ่ายเงินให้คนละ 40 บาทไม่ว่าจะมีงานทำหรือไม่ ถ้ามีงานทำช่วงที่ถูกเรียกไปซ่อมเครื่องจักรจะได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด 2 ชั่วโมง การที่โจทก์ทั้งแปดมานอนที่บ้านพักด้วยความสมัครใจเพื่อรอทำงานล่วงเวลาจึงไม่เป็นการทำงานล่วงเวลาขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์มาอยู่เวรไม่ใช่เป็นการทำงานนอกเวลาแต่เป็นการรอทำงานนอกเวลาซึ่งจำเลยได้จ่ายค่ารอทำงานให้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์อุทธรณ์ว่า ที่โจทก์มาอยู่เวรก็โดยจำเลยเป็นผู้จัดและขาดเวรมิได้ซึ่งการขาดเวรถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ ค่าเบี้ยเลี้ยงคนละ40 บาท มิใช่เป็นการจ่ายให้เพื่อรอทำงาน การลงเวลาในบัตรทำงานเมื่อมีการซ่อมเครื่องจักรเป็นเพียงการปฏิบัติตามระเบียบการทำงานของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้ให้คำนิยามของคำว่า ‘ค่าล่วงเวลา’ ไว้ว่า ‘หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ’ และให้คำนิยามคำว่า ‘ค่าทำงานในวันหยุด’ ไว้ว่า’หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด’ ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า การทำงานตามคำนิยามของคำว่าค่าล่วงเวลาก็ดี หรือค่าทำงานในวันหยุดก็ดีย่อมหมายถึงการทำงานตามปกติที่นายจ้างได้มอบหมายให้ลูกจ้างกระทำในกิจการของนายจ้างเท่านั้น การที่จำเลยให้โจทก์มาอยู่เวร ณ สถานที่ประกอบกิจการของจำเลย หากเครื่องจักรของจำเลยเสียซึ่งต้องทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ต่อไปจำเลยก็จะมีคำสั่งหรือใบแจ้งงานให้โจทก์ซ่อมแซมและโจทก์ต้องลงเวลาการทำงานในบัตรลงเวลาถ้าเครื่องจักรไม่เสียโจทก์ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ได้รับเบี้ยเลี้ยงในอัตราคนละ 40 บาท การที่โจทก์มาอยู่เวรเช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำในกิจการของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแม้โจทก์จะได้มาอยู่เวรเพื่อรอการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ หรือในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดแล้วแต่กรณี
พิพากษายืน.

Share