แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยบอกให้ ล. ลงลายมือชื่อแทน ท. ได้ ล. จึงปลอมลายมือชื่อ ท. ลงในคำร้องขอประกัน แล้วจำเลยร่วมกับ ล.ขอประกันตัว อ.ผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้โฉนดที่ดินของท.เป็นหลักทรัพย์ เสนอต่อพันตำรวจตรี ช.จนพันตำรวจตรีช.อนุญาตให้ประกันตัว อ. ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งและการที่จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกัน อ. ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าล. ปลอมลายมือชื่อ ท. ผู้ขอประกัน จำเลยก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกัน อ. ทั้งจำเลยยังรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการให้ อ. ได้รับประกันตัวไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 201 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265, 268, 201, 157, 83 และริบคำร้องขอประกันและสัญญาประกันของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยต่อเนื่องกันจึงเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201, 265,268, 83 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 201 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 7 ปี ริบของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำนายดาบตำรวจสมพร ร่วมสุข และสิบตำรวจตรีพงศ์พิศ โพธิ์ชา พยานโจทก์ที่ยืนยันว่า ในการขอประกันตัวนายอนุสรณ์ จรูญธรรม นั้นจำเลยเป็นผู้ใช้ให้ไปตามนายหลอมสามีของนางเทียม จันทะมาลี เจ้าของโฉนดที่ดินที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ในการขอประกันตัวนายอนุสรณ์มาพบจำเลย เมื่อนายหลอมมาแล้วจำเลยกับนายหลอมได้เข้ามาในห้องทำงานที่นายดาบตำรวจสมพรและสิบตำรวจตรีพงศ์พิศนั่งทำงานอยู่แล้วจำเลยสั่งให้สิบตำรวจตรีพงศ์พิศเขียนคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาให้ สิบตำรวจตรีพงศ์พิศก็เขียนให้โดยใช้โฉนดที่ดินซึ่งเป็นของนางเทียมเขียนแล้วนายหลอมเอาคำร้องออกไป จากนั้นไม่นานจำเลยกับนายหลอมก็กลับเข้ามาเอาคำร้องขอประกันมาให้ดูปรากฏว่ามีการลงชื่อผู้เขียนคำร้อง ผู้ขอประกันและผู้รับสัญญาประกันถูกต้องปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4, จ.3 และ จ.7 แล้ว เห็นว่าทั้งนายดาบตำรวจสมพรและสิบตำรวจตรีพงศ์พิศต่างเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความให้ร้ายจำเลย นอกจากนี้ โจทก์ยังมีนางเทียมมาเบิกความว่า เช้าวันที่ 19 สิงหาคม 2526 ได้สอบถามนายหลอม นายหลอมได้บอกว่าจำเลยให้คนมาตามไปประกันตัวนายอนุสรณ์ นายหลอมจึงเอาโฉนดที่ดินของนางเทียมไป และจำเลยได้บอกว่าให้นายหลอมเซ็นชื่อแทนนางเทียมได้ พยานหลักฐานดังกล่าวมาแล้วเป็นอันฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกับนายหลอมขอประกันตัวนายอนุสรณ์โดยใช้โฉนดที่ดินของนางเทียมเป็นหลักทรัพย์ และปรากฏตามคำพันตำรวจตรีชนะ ชูมาตย์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเลิงนกทาด้วยว่า จำเลยได้บันทึกในคำร้องขอประกันว่าสมควรให้ประกัน ผู้ต้องหาไม่หลบหนี ส่วนลายมือชื่อของนางเทียมเจ้าของโฉนดที่ดินซึ่งลงไว้ในคำร้องขอประกันตัวนายอนุสรณ์นั้น พันตำรวจตรีกิจจาผู้เชี่ยวชาญของศาลสาขาการตรวจพิสูจน์เอกสาร และการปลอมแปลงซึ่งทำการพิสูจน์ลายมือชื่อนางเทียมในเอกสารหมาย จ.4 ยืนยันว่า เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อนายหลอมที่เขียนเป็นลายมือชื่อนางเทียมในเอกสารตัวอย่างแล้วปรากฏว่า เป็นลายมือของคนคนเดียวกัน แสดงว่าผู้ที่ปลอมลายมือชื่อของนางเทียมในคำร้องขอประกันคือนายหลอมนั่นเอง ดังนี้ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมดังโจทก์ฟ้อง และเมื่อจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารปลอมตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ยังได้นำไปเสนอต่อพันตำรวจตรีชนะเพื่อให้พันตำรวจตรีชนะสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายอนุสรณ์จนพันตำรวจตรีชนะอนุญาตให้ประกันตัวได้ตามที่จำเลยเสนอความเห็น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งด้วย และการที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อพันตำรวจตรีชนะผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกันตัวนายอนุสรณ์ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านางเทียม ผู้ขอประกันตัวนายอนุสรณ์มิได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง หากแต่นายหลอมเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกันตัวนายอนุสรณ์ผู้ต้องหาไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทั้งนี้ ได้ความจากคำนายประทีป เสวะนาม พยานโจทก์ว่าจำเลยเคยใช้ให้ไปตามนายอนุสรณ์ที่กรุงเทพมหานครและได้พบนายอนุสรณ์ แต่นายอนุสรณ์ไม่ยอมเข้ามอบตัวอ้างว่าได้ให้เงินแก่จำเลยเป็นสินน้ำใจไปแล้ว 25,000 บาท คำนายประทีปนี้เมื่อนำมาพิเคราะห์ประกอบคำพันตำรวจโทวิชาญซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยโสธร และเป็นผู้รับมอบตัว นายอนุสรณ์จากเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษที่เบิกความว่าได้สอบปากคำนายอนุสรณ์ไว้นายอนุสรณ์ให้การว่าได้ให้เงินแก่จำเลยเป็นค่าตอบแทนสินน้ำใจเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แต่นายอนุสรณ์ ขอให้ลงบันทึกไว้ในคำให้การเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท หรือ 25,000 บาท จำไม่ได้แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการให้นายอนุสรณ์ผู้ต้องหาในคดีอาญาได้รับการประกันตัวไป อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201ด้วย ที่จำเลยนำสืบว่า นายหลอมเป็นผู้มาขอประกันตัวนายอนุสรณ์เอง จำเลยจึงให้นายหลอมไปพบนายดาบตำรวจสมพรหัวหน้าเสมียนคดีนายหลอมไปประมาณ 2 ชั่วโมง ก็กลับมาโดยนำเอกสารเกี่ยวกับการขอประกันตัวนายอนุสรณ์ทั้งหมดมาเสนอปรากฎว่ามีลายมือชื่อนางเทียมลงนามเป็นผู้ขอประกันมาเรียบร้อยแล้วนั้นเห็นว่า ไม่น่าเชื่อถือเพราะดังได้กล่าวมาแล้วว่านายดาบตำรวจสมพรและสิบตำรวจตรีพงศ์พิศต่างเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยไม่เคยมีสาเหตุส่วนตัวกันมาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าจะมากลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำหรือให้ร้ายจำเลย หลังเกิดเหตุ 2-3 วัน เมื่อจำเลยพบกับนางเทียมเจ้าของโฉนดที่ดิน นางเทียมได้ถามจำเลยว่าทำไมจึงให้นายหลอมไปประกันตัวนายอนุสรณ์ซึ่งไม่รู้จักกันจำเลยก็มิได้อ้างต่อนางเทียมว่าเป็นเรื่องนายหลอมมาประกันตัวและนางเทียมได้ลงชื่อถูกต้อง คงอ้างเพียงว่า ไม่เป็นไรประกันไป 2-3 วัน นายอนุสรณ์ก็จะเอาโฉนดมาเปลี่ยน ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า เรื่องนี้เป็นเพราะจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพันตำรวจตรีชนะเนื่องจาก พันตำรวจตรีชนะเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้ร้องเรียกว่าพันตำรวจตรีชนะค้ากัญชานั้น เห็นว่า การนำสืบดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลย เพราะได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้องนั้นหาใช่มีเฉพาะคำของพันตำรวจตรีชนะไม่หากแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบกันอีกหลายประการ ที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน