คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าที่นอนและหมอนของโจทก์ซึ่งผลิตจากฟองน้ำเทียม ไม่ใช่สินค้าอื่น ๆ เครื่องมือ เครื่องใช้ เฉพาะที่ผลิตจากพลาสติกตามบัญชี 1 หมวด 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่54) พ.ศ. 2517เพราะสินค้าที่นอนและหมอนกฎหมายได้บัญญัติไว้แล้วในบัญชีที่ 2 หมวด 2 เพียงแต่กฎหมายในขณะพิพาทประสงค์ลดภาษีเฉพาะที่นอนและหมอนที่ยัดปุยนุ่นหรือปุยจากต้นไม้อย่างอื่นดังนั้นสินค้าของโจทก์จึงไม่อยู่ในบัญชีใด ๆ ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ฟองน้ำเทียมตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมหมายถึงฟองน้ำเทียมโดยตัวเอง หาได้มีความหมายรวมถึงสิ่งของที่ผลิตเป็นสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นโดยใช้ฟองน้ำเทียมเป็นส่วนประกอบด้วยไม่ เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าผู้ผลิตฟองน้ำเทียมซึ่งถือเป็นผู้ผลิตสินค้าอันจะต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตอยู่แล้ว เมื่อโจทก์นำฟองน้ำเทียมมาผลิตสินค้าเป็นที่นอนและหมอน ย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ผลิตฟองน้ำเทียมซ้ำอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างบริษัทบางกอกโฟม จำกัด ผลิตฟองน้ำให้แล้วโจทก์นำผ้ามาเย็บเป็นปลอกหรือซื้อปลอกมาหุ้มทำเป็นที่นอนและหมอน โดยเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายรับ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าปี พ.ศ. 2518 ถึง 2522 ในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับเป็นเงินค่าภาษีรวม 12,754,881.18 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทบางกอกโฟม จำกัด ผลิตฟองน้ำเทียมให้ตามสูตรของโจทก์ แล้วโจทก์นำผ้ามาเย็บเป็นปลอกมาหุ้มทำเป็นที่นอนและหมอนเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7.0 ของรายรับ โดยอ้างว่าสินค้าของโจทก์เป็นฟองน้ำ ฟองน้ำเทียมตามหมวด 5 (10) หรือเป็นของใช้ที่ผลิตจากพลาสติกตามหมวด 9 แห่งบัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่54) พ.ศ. 2517 โจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายเข้าลักษณะเป็นสินค้าที่ผลิตจากฟองน้ำเทียม จึงเป็นสินค้าตามหมวด 5 (10)แห่งบัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว การประเมินชอบแล้วคงมีปัญหาที่โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ทำการผลิตสินค้าที่นอนและหมอนจากฟองน้ำเทียมขึ้นจำหน่ายอันเป็นสินค้าตามบัญชีที่ 1 หมวด 5 (10) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่54) พ.ศ. 2517 ดังจำเลยฎีกาหรือไม่ และสินค้าของโจทก์จัดเป็นสินค้าตามบัญชีที่ 1 หมวด 9 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่54) พ.ศ. 2517 เพราะเป็นเครื่องใช้ที่ผลิตจากปลาสติกหรือพลาสติกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สินค้าที่โจทก์ผลิตไม่ต้องด้วยบัญชีที่ 1 หมวด 9 สินค้าอื่น ๆเครื่องมือ เครื่องใช้ เฉพาะที่ผลิตจากพลาสติกดังจำเลยฎีกาเพราะสินค้าที่นอนและหมอน กฎหมายได้บัญญัติไว้แล้วในบัญชีที่ 2 หมวด 2 เพียงแต่กฎหมายประสงค์ลดภาษีเฉพาะที่นอนและหมอนที่ยัดปุยนุ่นหรือปุยจากต้นไม้อย่างอื่น ดังนั้นสินค้าที่นอนและหมอนของโจทก์ซึ่งผลิตจากฟองน้ำเทียม จึงไม่อยู่ในบัญชีใด ๆ ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ส่วนข้อที่ว่าสินค้าโจทก์ผลิตจากฟองน้ำเทียมจะถือว่าเป็นฟองน้ำเทียมหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่าฟองน้ำเทียมตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมมีความหมายถึงฟองน้ำเทียมโดยตัวเอง หาได้มีความหมายรวมถึงสิ่งของที่ผลิตเป็นสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นโดยใช้ฟองน้ำเทียมเป็นส่วนประกอบด้วยไม่ เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าผู้ผลิตฟองน้ำเทียมซึ่งถือเป็นผู้ผลิตสินค้าตามบัญชีที่ 1 หมวด 5 (10) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่54) พ.ศ. 2517 อันอาจได้รับการลดอัตราภาษีการค้าหากเข้าหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้มาตรา 7 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวกันจะต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตอยู่แล้ว เมื่อโจทก์นำฟองน้ำเทียมมาผลิตสินค้าเป็นที่นอนและหมอนย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ผลิตฟองน้ำเทียมซ้ำอีกเป็นแน่ และการที่บัญชีที่ 2 หมวด 2เครื่องใช้หรือของใช้ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติถึงที่นอนหมอน เฉพาะที่ยัดปุยนุ่นหรือปุยจากต้นไม้อย่างอื่นในขณะพิพาท ย่อมแสดงว่ากฎหมายได้แยกแยะการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้าไว้โดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาหลังจากพิพาทก็ได้มีการแก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่133)พ.ศ. 2526 ตัดข้อความที่ว่า ‘ทั้งนี้เฉพาะที่ยัดปุยนุ่นหรือปุยจากต้นไม้อย่างอื่น’ ออก ดังนั้นหลังจากมีการแก้ไขแล้วที่นอนหรือหมอนทุกชนิดจึงจัดเข้าในสินค้าตามบัญชีที่ 2 ดังกล่าวทั้งหมด ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าในขณะพิพาทกฎหมายไม่ได้บัญญัติมุ่งหมายถึงที่นอนหรือหมอนดังเช่นกรณีของโจทก์ สินค้าของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากฟองน้ำเทียมจึงไม่ใช่สินค้าตามบัญชีที่ 1 หมวด 5 (10)ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่54) พ.ศ. 2517 ดังจำเลยฎีกาส่วนสินค้าของโจทก์จะได้รับการลดอัตราหรือยกเว้นภาษีการค้าในขณะพิพาทตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหรือไม่ ไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share