คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเกินกำหนดสิบห้าวันโดยมิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบแม้ศาลแรงงานกลางจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาก็หาทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบแล้วนั้นกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบไม่ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา49แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522และบทบัญญัติในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583เรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นกฎหมายทั้งสามฉบับนี้มีวัตถุประสงค์และมีที่ใช้ต่างกันจะเทียบเคียงแปลปรับเข้าด้วยกันมิได้การที่จะวินิจฉัยว่าการใดจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา49แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522หรือมิใช่นั้นจะต้องพิเคราะห์ว่ามีสาเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่เป็นประการสำคัญนายจ้างเชื่อว่าลูกจ้างมีส่วนพัวพันกับการพยายามฆ่าย. ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้างทำให้นายจ้างไม่ไว้วางใจลูกจ้างจึงสั่งเลิกจ้างไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2507 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นหัวหน้าแผนกธุรกิจทั่วไป ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 9,850บาท ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ละเลยบกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ ขัดคำสั่งและนโยบายของจำเลย พกอาวุธปืนเข้าไปทะเลาะวิวาทกับผู้บังคับบัญชา ต่อมาโจทก์ถูกดำเนินคดีในข้อหาจ้างวางใช้คนร้ายยิงผู้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บสาหัส ข้อกล่าวหาของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความจริงจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้สอบสวนความผิดของโจทก์ เป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 29,550 บาท ไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 59,100 บาท ไม่จ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามระยะเวลาการทำงาน 20 ปี 3 เดือน เป็นเงิน 201,925 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ 1,290,575 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายเงิน 1,290,575บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัาพันธ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124 โจทก์กระทำความผิดจำเลยได้ตั้งกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ตามข้อบังคับและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรง กระทำแการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไป โดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวงล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไปหากโจทก์มีสิทธิได้รับก็จะได้รับไม่เกิน 10,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ส่วนสาเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายโยชิยูกิอาเบ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทจำเลยถูกคนร้ายลอบใช้อาวุธปืนยิงเป็นการพยายามฆ่า จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดฐานเป็นผู้จ้างวานฆ่าตามข้อหาของตำรวจ แต่ไม่มีหลักฐานโดยแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิด และประกอบกับมีเหตุอื่น จำเลยจึงไม่ไว้วางใจโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และโดยเหตุที่ไม่มีหลักฐานแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดอาญาต่อจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 29,550 บาท ค่าชดเชย 59,100 บาทและเงินบำเหน็จ 201,925 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี สำหรับเงินต้นทั้งสามจำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528 จำเลยจะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางภายในสิบห้าวันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ซึ่งเป็นวันที่ 8มกราคม 2529 แต่จะเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2529โดยมิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เช่นโจทก์ประการใด ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยจึงยื่นเกินกำหนด เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ แม้ศาลแรงงานกลางจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาก็หาทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบแล้วนั้นกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบไม่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์โจทก์สรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า โจทก์มิได้กระทำผิดจ้างวางใช้คนไปฆ่านายโยชิยูกิ อาเบ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดไปแล้ว ศาลไม่ได้พิพากษาว่าโจทก์มีความผิดตามข้อกล่าวหานั้น โจทก์เป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลแรงงานกลางนำเอาข้อกล่าวหาของตำรวจมาปรับให้เป็นที่เสียหายแก่สิทธิของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและความยุติธรรม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาดังนั้น เป็นการอุทธรณ์โดยความสำคัญผิดคิดว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิด ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่ความจริงศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีพยานหลักฐานแสดงโดยแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดประการใด แต่ได้มีการลอบห่านายโยชิยูกิ อาเบ การเลิกจ้างโจทก์มีสาเหตุมาจากจำเลยเชื่อว่าโจทก์มีส่วนพัวพันกับการพยายามฆ่านายโยชิยูกิ อาเบ และจำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิด “ความเชื่อ” ดังกล่าวเป็นความเชื่อของจำเลย มิใช่ของศาลแรงงานกลาง จากความเชื่อดังกล่าวนั้นเองทำให้จำเลยเกิดความไม่ไว้วางใจโจทก์ จึงได้เลิกจ้างเสียและเป็นความสำคัญผิดของโจทก์อีกประการหนึ่งว่า การเลิกจ้างที่ไม่ใช่ไม่เป็นะรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 อันนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจะมีได้แต่กรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดเท่านั้น โดยโจทก์ยกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขึ้นเทียบเคียง ศาลฎีกาเห็นว่า กฎหมายสามฉบับนั้นมีวัตถุประสงค์และมีที่ใช้ต่างกัน จะเทียบเคียงแปลงปรับเข้าด้วยกันมิได้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนี้ จักต้องพิเคราะห์ว่ามีสาเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่เป็นประการสำคัญ บางกรณีแม้ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดใด ๆ เลย มีความรู้ความสามารถมีประสิทธิภาพสูง แต่นายจ้างประสบภาวะขาดทุน นายจ้างก็อาจเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นเสียได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกรณีของโจทก์นี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลแรงงานกลางว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีสาเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องค่าเสียหาย1,000,000 บาท ตามที่โจทก์อุทธรณ์
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว”
พิพากษายืน.

Share