คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นจะต้องปรากฏว่าผู้ขอเป็นเจ้าของที่แท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองศาลก็สั่งคืนของกลางให้ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นให้งดการไต่สวน แล้วสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า

1. กฎหมายไม่ได้ห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ

2. จำเลยทราบเมื่อศาลพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด จำเลยมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดมาแต่ต้น จึงขอพิสูจน์ความจริงต่อศาลได้

3. การนำของป่าเคลื่อนที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ริบยานพาหนะที่ใช้บรรทุก

พิเคราะห์แล้ว ฎีกาข้อ 2 ข้อ 3 ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดและริบรถยนต์ของกลาง จำเลยจะโต้เถียงในชั้นขอคืนของกลางให้รับฟังเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ สำหรับฎีกาข้อ 1 แม้มาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะไม่ได้บัญญัติโดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบก็ตาม แต่การที่ศาลจะสั่งคืนได้จะต้องปรากฏว่า ผู้ขอเป็นเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ศาลก็สั่งคืนรถยนต์ของกลางให้ไม่ได้ ไม่จำต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ต่อไป”

พิพากษายืน

Share