แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ต้องคำพิพากษาให้เพิ่มโทษมาตั้งแต่ยังไม่มีพระราชบัญญัติล้างมลทิน 2499 นั้น ต่อมามีพระราชบัญญัติล้างมลทิน2499 จำเลยที่ฎีกา แม้จะไม่ได้ฎีกาในข้อนี้ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยไม่เพิ่มโทษจำเลยนั้นได้
พระราชบัญญัติล้างมลทิน 2499 มาตรา 3 ย่อมไม่มีความหมายกินถึงผู้ที่รอการลงโทษไว้ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2499 เวลากลางคืน จำเลยทั้ง 4 สมคบกันมีไม้ตะพดเป็นสาตราวุธปล้นทรัพย์นายสอิ้งนางสอิ้ง ศรีนาท และทำร้ายนายสอิ้งบาดเจ็บ จำเลยที่ 1, 3 เคยต้องโทษมาแล้ว พ้นโทษยังไม่เกิน 3 ปี จำเลยที่ 4 เคยต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปีแต่รอการลงโทษไว้ 5 ปี ยังไม่พ้นกำหนดขอให้เพิ่มโทษและเอาโทษที่รอไว้มาลงแก่จำเลย
จำเลยที่ 1 รับสารภาพและรับว่าพ้นโทษไม่เกิน 3 ปีจริง
จำเลยที่ 2, 3, 4 ปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ จำเลยที่ 3 รับว่าพ้นโทษไม่เกิน 3 ปี และจำเลยที่ 4 รับว่าถูกรอการลงโทษจำคุก 2 ปีไว้ภายใน 5 ปีจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 10 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) 2577 มาตรา 7เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม มาตรา 73 กึ่งหนึ่งและลดกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 59 โทษเพิ่มและลดเสมอกันหักกลบลบกัน จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งตาม มาตรา 73 จำคุก 15 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ยกเอาโทษที่รอไว้มารวมเป็นโทษจำคุก 12 ปี
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายแดง ศาลออกหมายแดงสำหรับตัวจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2, 3, 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2, 3, 4 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน เว้นแต่ในข้อเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้นให้ยก เพราะเพิ่มโทษไม่ได้ตาม พระราชบัญญัติล้างมลทิน 2499 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า ให้ถือว่าไม่เคยต้องโทษมาก่อน