แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยการขาดนัดหากจำเลยไม่มรณะก็ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 147 การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามมาตรา 42 และ 43 นั้น หากคู่ความมรณะภายหลังศาลพิพากษาคดีแล้วก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ในระหว่างนี้หากคดียังไม่ถึงที่สุดทายาทของผู้มรณะก็ยังคงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้มิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะสิ้นไปด้วย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับจำเลยหากทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของจำเลย จึงเป็นกรณีสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทายาทของจำเลยร้องขอเข้ามาแทนที่จำเลยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้
ผู้ร้องคัดค้านในคำร้องขอพิจารณาใหม่ว่า ศาลได้พิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยไม่ทราบ ต่อมาจำเลยถูกฆ่าตาย ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง ซึ่งหากศาลได้ให้โอกาสผู้ร้องในการเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างคำพยานโจทก์แล้ว คดีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทครึ่งหนึ่ง เป็นการคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากพิจารณาใหม่แล้วศาลอาจพิพากษาให้ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ได้พิพากษาไปแล้ว คำร้องขอพิจารณาใหม่จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง