แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทุนสำรองเงินตรานั้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับมอบจากกระทรวงการคลังไปแล้วย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะที่จะรักษาไว้และนำไปใช้จ่ายได้ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้หาได้เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงการคลังไม่ฉะนั้น กระทรวงการคลังจึงหามีอำนาจที่จะฟ้องเรียกเงินนี้คืนจากผู้ที่กล่าวหาว่านำไปใช้จ่ายโดยมิชอบไม่
คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติในระหว่างปฏิวัติซึ่งยังมิได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลย่อมเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับเด็ดขาดในทางบริหารฉะนั้นการที่จำเลยในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติในการทำสัญญาจ้างพิมพ์ธนบัตรกับบริษัทต่างประเทศและจ่ายเงินล่วงหน้าไปโดยไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตามมติของคณะกรรมการดังกล่าวหาอาจลบล้างคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติไม่ที่จำเลยปฏิบัติไปตามคำสั่งนั้นจึงมิใช่เป็นการผิดกฎหมายอันจะถือว่าเป็นการละเมิดแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ดำเนินการจ้างพิมพ์ธนบัตรและสั่งจ่ายเงินราคาธนบัตรฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรีเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้เงิน 714,285.99 บาทแก่โจทก์รวมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำการอันเป็นผิดกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้คืนเงินที่จำเลยในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำไว้กับบริษัท ซีโคล เป็นเงินผลประโยชน์ของทุนสำรองเงินตรา ซึ่งได้มอบให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยและฝากอยู่ที่ธนาคารเฟเดอรัลรีเซิร์ฟ แห่งนิวยอร์คสหรัฐอเมริกา ทุนสำรองเงินตรานี้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ได้บัญญัติให้มอบแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามประกาศกระทรวงการคลังก็ปรากฏว่าทุนสำรองเงินตรานี้ได้มอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปแล้ว จึงพ้นจากความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังและเมื่อได้พิเคราะห์บทบัญญัติพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 26, 27 และ 28 แล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าทุนสำรองเงินตรานั้นธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่จะต้องรักษาและเป็นสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องกันไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากสินทรัพย์อื่น ๆ และจะนำไปใช้จ่ายได้ก็เฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดไว้หาได้เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงการคลังไม่ เมื่อจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้คืนในคดีนี้เป็นเงินผลประโยชน์อันเกิดจากทุนสำรองเงินตรา ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเงินรายนี้คืนจากจำเลยก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยโจทก์ที่ 1 หาใช่กระทรวงการคลังโจทก์ที่ 2 ไม่
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยจะต้องรับผิดฐานละเมิดนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยได้รับอามิสสินจ้างจึงไม่มีทางจะให้รับฟังว่าจำเลยได้รับอามิสสินจ้างดังที่โจทก์อ้างนอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะปฏิวัติให้มีอำนาจเต็มในการพิจารณาทำสัญญาจ้างพิมพ์ธนบัตรกับบริษัทซีโคล คำสั่งนี้เป็นคำสั่งในระหว่างปฏิบัติและยังมิได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี จึงย่อมเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับเด็ดขาดในทางบริหาร เมื่อจำเลยได้รับคำสั่งให้มีอำนาจเต็มในการทำสัญญารายนี้ แม้จะถือว่าเรื่องพิมพ์ธนบัตรจำเลยจะต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อนตามมติคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็เห็นว่ามติของคณะกรรมการหาอาจลบล้างคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติไม่ การที่จำเลยปฏิบัติไปตามคำสั่งนั้นจึงมิใช่เป็นการผิดกฎหมายอันจะเข้าขั้นเป็นการละเมิดได้แต่อย่างใด ฉะนั้นที่จำเลยจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทซีโคลไปตามสัญญาจ้างพิมพ์ธนบัตรจึงเป็นการจ่ายที่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดได้
พิพากษายืน