คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1889/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นเพียงกำหนดให้สหภาพแรงงานดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น และไม่มีมาตราอื่นใดบังคับว่า สหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคน เมื่อข้อบังคับของสหภาพแรงงานโจทก์มิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นกรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ว่าการจะทำความตกลงต่างๆ ในทางอำนวยกิจการของนิติบุคคลนั้น ให้เป็นไปตามเสียงข้างมากในหมู่ผู้จัดการทั้งหลายด้วยกัน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ.2522 มาตรา 36 ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น ไม่หมายถึงการฟ้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ สหภาพแรงงานโจทก์มีวัตถุประสงค์ว่า เพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา98(2) กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน ฉะนั้น เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดข้อเรียกร้องของโจทก์ไปในทางเสื่อมประโยชน์ของสมาชิกโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีวัตถุประสงค์แสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง สวัสดิภาพในการทำงาน และอื่น ๆ กรรมการซึ่งมีเสียงข้างมากมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ช. และ ณ.เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีนี้ได้ จำเลยทั้ง 11 คนเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เดิมสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ได้เข้าทำงานในโรงงานสุราบางยี่ขัน ขณะนั้นเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อมาบริษัท ส. ได้เช่ากิจการของโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยสัญญาเช่ามีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับคนงานของโรงงานสุราบางยี่ขันว่า ผู้เช่ายอมตกลงรับโอนพนักงานและคนงานซึ่งยังไม่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ให้ทำงานกับผู้เช่าตลอดกำหนดเวลาการเช่า และผู้เช่าต้องให้พนักงานและคนงานได้รับสิทธิ ประโยชน์ เงินช่วยเหลือ จากผู้เช่าไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่จากผู้ให้เช่าตามคำสั่งและระเบียบที่ยังใช้ปฏิบัติในวันที่ลงในสัญญาเช่า ถ้าหากหลังจากวันใช้คำสั่งและระเบียบได้มีระเบียบหรือคำสั่งของทางราชการในเรื่องเดียวกันออกใช้ใหม่สำหรับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจเป็นการให้ประโยชน์ดีขึ้น ผู้เช่าย่อมถือปฏิบัติตามระเบียบหรือคำสั่งของทางราชการนั้นสำหรับพนักงานและคนงานดังกล่าวต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐวิสาหกิจนำเงินที่จ่ายเงินค่าครองชีพ เงินค่ายังชีพ ฯลฯ ไปบวกรวมเข้ากับเงินเดือน ค่าจ้าง ซึ่งบริษัท ส. ต้องถือปฏิบัติตาม แต่บริษัท ส. ไม่ปฏิบัติตามสหภาพแรงงานโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท ส. ให้รวมเงินค่าครองชีพที่บริษัทจ่ายให้คนงานเข้าเป็นอัตราค่าจ้างและเงินเดือน บริษัท ส. ไม่ยินยอมบริษัท ส. และโจทก์ได้แจ้งให้กรมแรงงานทราบ กรมแรงงานได้ส่งเรื่องให้จำเลยในฐานะเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาด จำเลยชี้ขาดโดยคำชี้ขาดที่ 103/2522 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2522 ว่า ตามมติของคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 21 สิงหาคม 2521 และหนังสือกระทรวงการคลังใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ไม่นำมาใช้กับบริษัท ส. ซึ่งเป็นการไม่ชอบขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลย

จำเลยให้การว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 100 ให้สหภาพแรงงานมีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการแทนในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการของโจทก์มีทั้งหมด 18 คนแต่กรรมการที่มอบอำนาจแทนโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้มีเพียง 10 คน เป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุมมติของคณะรัฐมนตรีตามฟ้องใช้บังคับเฉพาะกับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น บริษัท ส. ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ จะนำมติดังกล่าวมาใช้ไม่ได้ ค่าครองชีพที่บริษัท ส. จ่ายให้แก่พนักงานและลูกจ้างนั้น ไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 คำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยถูกต้องแล้ว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องไม่เคลือบคลุมบริษัท ส. ต้องถือตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค.0512/28497 ลงวันที่ 11กันยายน 2521 ที่ให้นำเงินค่าครองชีพบวกรวมเป็นเงินเดือนให้แก่พนักงานและรัฐวิสาหกิจมาใช้กับพนักงานและลูกจ้างของบริษัท ส. ด้วย พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 100 เป็นเพียงข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น หาได้มีมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคนไม่ตลอดทั้งข้อบังคับของสหภาพแรงงานโจทก์ก็มิได้ระบุไว้ประการอื่น กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ที่ว่า “การจะทำความตกลงต่าง ๆในทางอำนวยกิจการของนิติบุคคลนั้น ท่านให้เป็นไปตามเสียงข้างมากในหมู่ผู้จัดการทั้งหลายด้วยกัน” เมื่อสหภาพแรงงานโจทก์มีกรรมการทั้งหมด 18 คนฉะนั้น กรรมการ 10 คน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากจึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมอบหมายให้ ช. และ ณ. ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยคดีนี้ได้ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 36 ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวด้วยกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น หาได้หมายถึงการฟ้องร้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะไม่สหภาพแรงงานโจทก์มีวัตถุประสงค์ว่า เพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 98(2)กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน ฉะนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดข้อเรียกร้องของโจทก์ไปในทางเสื่อมประโยชน์ของสมาชิก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และตามสัญญาเช่าระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับบริษัท ส. บริษัท ส. ย่อมต้องถูกผูกมัดให้ปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีตามฟ้อง คำชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ชี้ขาดข้อเรียกร้องข้อ 2 ของสหภาพแรงงานโจทก์ เป็นการไม่ชอบ

พิพากษายืน

Share