คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1889/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะถือว่าโจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวโดยเฉพาะ.หรือในฐานะแทนเด็กผู้เป็นบุตรด้วยนั้น จะต้องพิจารณาฟ้องรวมกันทั้งฉบับ.
หน้าฟ้องตรงช่องชื่อโจทก์ระบุว่า ‘นายนวลบิดาเด็กชายยุทธนาพวงมาลัย’ดังนี้นอกจากแสดงว่านายนวลเป็นบิดาเด็กชายยุทธนาแล้ว. ยังแสดงว่ามีความหมายหรือความประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดด้วย มิฉะนั้นคงกล่าวง่ายๆ เพียงว่า นายนวลโจทก์.
ในฟ้องระบุถึงการกระทำของจำเลยซึ่งกระทำละเมิดต่อเด็กชายยุทธนา.ทั้งกล่าวด้วยว่าการกระทำโดยประมาทของจำเลยเป็นเหตุให้เด็กชายยุทธนาบุตรโจทก์และโจทก์เสียหาย เรียกค่าเสียหาย 3 ประการ. แม้ตามฟ้อง เมื่อกล่าวถึงเด็กชายยุทธนาจะใช้ถ้อยคำว่า ‘บุตรโจทก์’ ต่อท้ายจากคำว่าเด็กชายยุทธนาทุกแห่ง แต่เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. มาตรา 1537 ที่ว่า อำนาจปกครองอยู่แก่บิดา มาตรา 1541 ที่ว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร. อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจตามกฎหมาย. โดยมิต้องมีการแต่งตั้งหรือมอบหมายแต่อย่างใด. ดังนี้ แสดงว่าโจทก์เสนอฟ้องทั้งในฐานะส่วนตัวและแทนเด็กชายยุทธนาบุตรผู้เยาว์ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาเด็กชายยุทธนา จำเลยขับรถโดยประมาทชนเด็กชายยุทธนาบาดเจ็บ ขอให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย 50,771 บาทและดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า เป็นความผิดของเด็กชายยุทธนาที่วิ่งตัดหน้ารถ ฯลฯ จำเลยแถลงว่ายินดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 1,500 บาทโดยเฉพาะตามฟ้องข้อ 2(1) จำนวน 771 บาท นอกจากนั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนตามฟ้อง ข้อ 2(3) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องในนามโจทก์เป็นส่วนตัวมิได้ฟ้องแทนเด็กชายยุทธนา พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามฟ้องข้อ 2(1) ดังที่จำเลยยอมรับ 771 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ปัญหามีว่า โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวโดยเฉพาะ หรือฟ้องในฐานะแทนเด็กชายยุทธนาผู้เยาว์ผู้เป็นบุตรด้วย ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีนี้จะต้องพิจารณาฟ้องรวมกันทั้งฉบับ จะพิจารณาแบ่งแยกเป็นบางส่วนบางตอนหาได้ไม่ จะเห็นได้ว่าในหน้าฟ้องโจทก์ตรงช่องชื่อโจทก์ ได้ระบุว่า “นายนวล พวงมาลัย บิดาเด็กชายยุทธนา พวงมาลัย”นอกจากแสดงว่านายนวลเป็นบิดาเด็กชายยุทธนาผู้เยาว์แล้วการที่กล่าวไว้เช่นนั้นแสดงว่ามีความหมายหรือความประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดด้วย มิฉะนั้นก็คงกล่าวง่าย ๆ เพียงว่า นายนวลโจทก์ในฟ้องระบุถึงการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการละเมิดต่อเด็กชายยุทธนาได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส ทั้งกล่าวไว้ด้วยว่า การกระทำโดยประมาทของจำเลยนี้ เป็นเหตุให้เด็กชายยุทธนาบุตรโจทก์และโจทก์เสียหายเรียกค่าเสียหาย 3 ประการ คือ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย กับค่าทำให้เท้าขวาเด็กชายยุทธนาต้องพิการตลอดชีพ ทำให้ขาดความสามารถประกอบการงานให้มีผลรายได้ แม้ว่าตามฟ้องเมื่อกล่าวถึงเด็กชายยุทธนาจะปรากฏว่าใช้ถ้อยคำว่า”บุตรโจทก์” ต่อท้ายจากคำว่าเด็กชายยุทธนาทุกแห่งก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 ที่บัญญัติไว้ว่าอำนาจปกครองผู้เยาว์นั้นอยู่แก่บิดา มาตรา 1541 ที่บัญญัติว่าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจตามกฎหมายบัญญัติโดยมิต้องมีการแต่งตั้งหรือมอบหมายแต่อย่างใด ตามที่กล่าวมาแสดงเจตนาว่าโจทก์เสนอฟ้องทั้งในฐานะส่วนตัวและแทนเด็กชายยุทธนาบุตรผู้เยาว์ด้วย ประเด็นที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้องข้อ 2(2)(3) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญในส่วนนี้ พิพากษาแก้ ให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยค่าเสียหายตามฟ้องข้อ 2(2)(3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง.

Share