คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1425/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในความผิดฐานออกเช็คไม่มีเงินในธนาคาร โจทก์แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า เกรงว่าจะขาดอายุความจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน และขอรับเช็คคืนไปดำเนินการเองก่อน ไม่แสดงว่าโจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทำหนังสือกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวนหนึ่งแสนบาท แล้วไม่ชำระ เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์รวม 2 ฉบับ ฉบับละ50,000 บาท ลงวันที่สั่งจ่ายวันเดียวกัน คือวันที่ 12 มิถุนายน 2518 เมื่อโจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่า บัญชีปิดแล้ว โจทก์ทวงถามจากจำเลย จำเลยไม่ชำระโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีความว่า ฯลฯ ธนาคารเอเซียทรัสท์ตอบปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่า “บัญชีปิดแล้ว” ทั้งสองฉบับ หลังจากนั้นผู้แจ้ง (โจทก์)ติดต่อกับนายวินัย (จำเลย) จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา ทำให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย และเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ จึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานและขอรับเช็คคืนไปดำเนินการเองก่อน…”

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในเอกสารหมาย จ.5 มีระบุไว้ชัดเจนว่า การที่โจทก์มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเพราะเกรงเช็คจะขาดอายุความ จึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน ไม่มีข้อความหรือพฤติการณ์ในขณะแจ้งความว่าโจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย”

พิพากษายืน

Share