คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องแต่ผู้เดียวจำนองทรัพย์สินเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เป็น ‘เจ้าหนี้มีประกัน’ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 6 การที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ถือได้ว่าเป็นการขอรับชำระหนี้อย่างมิใช่ ‘เจ้าหนี้มีประกัน’ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 96 (1) หนี้จำนองระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยังมีอยู่ตามสัญญาจำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนอง

ย่อยาว

กรณีเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายต่อมาโจทก์ได้นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๗๘๗ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อผู้ร้องผู้เป็นภริยาของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างนั้นโดยปลอดจำนอง เมื่อหักค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีแล้ว คงเหลือเงิน ๔๓๔,๗๒๖ บาท
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งของยอดเงินดังกล่าวในฐานะเป็นภริยาเป็นเงิน ๒๑๗,๓๖๓ บาท แต่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้คัดค้านว่าที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างที่ขายทอดตลาดไปนั้น ผู้ร้องได้จำนองไว้กับโจทก์เป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อจำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ๓๕๐,๖๖๕.๐๗ บาทขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดเงินส่วนของผู้ร้องไว้ก่อน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้กันเงินจำนวน๔๓๔,๗๒๖ บาทนั้นชำระหนี้โจทก์ก่อน ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท คงเหลือเงินอีก ๒๘๔,๗๒๖ บาท อันเป็นสินสมรสที่จะแบ่งให้แก่ผู้ร้องกึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๑๔๒,๓๖๓ บาท ส่วนอีกกึ่งหนึ่งที่เหลือตกเป็นสินสมรสของจำเลยที่อาจจะแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น ยืนยันว่ามีส่วนได้เป็นสินสมรสดังคำร้อง ๒๑๗,๓๖๓ บาทมิใช่ ๑๔๒,๓๖๓ บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกายืนยันว่ามีส่วนได้ในสินสมรสตามคำร้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “เจ้าหนี้มีประกัน” ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖ หมายถึง เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำหรือสิทธิยึดหน่วง เป็นต้น เกี่ยวกับคดีนี้ หมายความว่าเป็นกรณีที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ได้จำนองทรัพย์สินไว้กับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้โดยตรงการที่ผู้ร้องแต่ผู้เดียวได้จำนองทรัพย์สินเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ เป็นจำนวนไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐บาท จึงไม่ถือว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เป็น “เจ้าหนี้มีประกัน” ตามความหมายของบทกฎหมายที่อ้างถึง เพราะต่างบุคคลหรือเป็นคนละคนนั่นเอง การที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เต็มจำนวน ๓๕๐,๖๖๕.๐๗ บาท ก็ถือได้ว่าเป็นการขอรับชำระหนี้อย่างมิใช่ “เจ้าหนี้มีประกัน” มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา ๙๖(๑)หนี้จำนองระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยังมีอยู่ตามสัญญาจำนองโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ก่อนตามสัญญาจำนอง
พิพากษายืน

Share