คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย การที่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมมีผลทำให้มรดกของผู้ตายยังเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ ไม่ตกทอดไปยังทายาทดังที่กฎหมายว่าด้วยมรดกกำหนดไว้ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยมรดก ข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้
ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)
เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่แปลงตกเป็นโมฆะ ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ใด ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7758 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 6 และ 6/1 ซอยสันตินฤมาน ถนนสุขุมวิท 30 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 128291 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 3/1 และ 5 ซอยบรรสารหรือบรรณสาร ถนนสุขุมวิท 28 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 59726 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) ถนนเพชรเกษม พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 4 ชั้น เลขที่ (74/235) จำนวน 1 คูหา พร้อมทั้งส่งมอบดอกผลของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยปลอดภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาจำเลยทั้งสามและหรือแทนคนใดคนหนึ่ง โดยให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสามโฉนดข้างต้นแก่โจทก์ทั้งสองไปดำเนินการเอง
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกทรัพย์สินของเจ้ามรดกตามพินัยกรรมร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7758 เลขที่ดิน 4401 หน้าสำรวจ 781 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 6 และ 6/1 ซอยสันตินฤมาน ถนนสุขุมวิท 30 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร กับที่ดินโฉนดเลขที่ 128291 เลขที่ดิน 4400 หน้าสำรวจ 4704 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 3/1 และ 5 ซอยบรรสารหรือบรรณสาร ถนนสุขุมวิท 28 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 59726 เลขที่ดิน 231 หน้าสำรวจ 7953 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) ถนนเพชรเกษม พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 4 ชั้น เลขที่ 74/235 จำนวน 1 คูหา แก่โจทก์ทั้งสองโดยปลอดภาระติดพันใด ๆ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม โดยให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสามโฉนดข้างต้นแก่โจทก์ทั้งสองไปดำเนินการเอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายประโพธ ผู้ร้องที่ 1 และนางชุลี ผู้ร้องที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสถาพร ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 โดยผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม และตั้งโจทก์ที่ 1 กับนายณรงค์วิทย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมมีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายนอกพินัยกรรมตามคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8102/2551 ของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อกำหนดตามพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามพินัยกรรมดังกล่าวข้อ 1 ระบุว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7758 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 6 และ 6/1 ซอยสันตินฤมาน ถนนสุขุมวิท 30 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 128291 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 3/1 และ 5 ซอยบรรสารหรือบรรณสาร ถนนสุขุมวิท 28 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 26060 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 1 คูหา และที่ดินโฉนดเลขที่ 44282 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) ถนนเพชรเกษม พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 4 ชั้น 1 คูหา ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการให้เช่าบ้าน และที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในที่ดินดังกล่าว เงินค่าเช่าที่ได้รับทั้งหมดแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่ากัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” มาตรา 1603 บัญญัติว่า “กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายเรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมเรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” จะเห็นได้ว่า เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย การที่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมมีผลทำให้มรดกของผู้ตายยังเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ ไม่ตกทอดไปยังทายาท ดังที่กฎหมายว่าด้วยมรดกกำหนดไว้ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยมรดก ข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ ส่วนข้อความในพินัยกรรมข้อ 6 ที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 6 เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามบทบัญญัติมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่แปลงตกเป็นโมฆะ ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ใด ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสองระบุในคำฟ้องว่า ปัจจุบันคงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 7758 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 128291 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 44282 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) ถนนเพชรเกษม พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และมีคำขอบังคับให้โอนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งสองนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกประการฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสองอ้างในคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นฟ้องฎีกา เพราะมิได้กระทำร่วมกันกับจำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองก็ได้ทำคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นฟ้องอุทธรณ์เพราะมิได้กระทำร่วมกันกับจำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน แต่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย แม้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่หากโจทก์ทั้งสองยังติดใจในปัญหาที่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะยกขึ้นกล่าวในคำแก้ฎีกาคัดค้านถึงข้อที่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกปัญหานั้นขึ้นวินิจฉัยว่าไม่ชอบอย่างไรด้วยเหตุผลใด ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่โจทก์ทั้งสองคงเพียงแต่กล่าวถึงโดยคัดลอกมาจากคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ได้โต้แย้งการไม่วินิจฉัยในปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว คำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share