คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจะเดินทางไปต่างประเทศ เครื่องบินขึ้นเวลา 8.40 นาฬิกาจำเลยไปถึงท่าอากาศยานรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารและบัตรรับกระเป๋าเดินทางแล้ว เวลา 8.15 นาฬิกา ขณะจำเลยเดินเข้าช่องทางเดินเพื่อไปยังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตรวจพบเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ9,100ดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกราชอาณาจักรที่จำเลย การกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเดินทางออกไปจากประเทศไทย และใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จโดยพ้นขั้นตระเตรียมการแล้ว ดังนี้ จำเลยมีเจตนานำเงินตราที่ต้องจำกัด หรือต้องห้ามออกไปนอกประเทศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินพ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 90 กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 กฎกระทรวงฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ประกาศกระทรวงการคลัง ออกตามความในกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ลงวันที่ 30 เมษายน 2529พระราชบัญญัติ ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลาง และจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ของกลางริบ จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละ 20 ของเงินของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ของกลางคืนให้จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ปัญหาตามฎีกาของโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2529 จำเลยกับนายชูเกียรติศรีชัยนันท์ จะเดินทางไปเมืองฮ่องกง โดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ที.จี.642 เครื่องบินจะออกเวลา 8.40 นาฬิกา จำเลยและนายชูเกียรติได้เดินทางมาที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ และได้ผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่สายการบินไทยและรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารกับบัตรรับกระเป๋าเดินทางแล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่สายการบินกำลังจะนำกระเป๋าเดินทางของจำเลยลำเลียงขึ้นเครื่องบิน นายสุรชัยกลับประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจค้นตัวจำเลยและกระเป๋าเดินทางของจำเลย ตรวจพบเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจำนวน9,100 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นของจำเลย โดยจำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเงินดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักร ส่วนปัญหาว่าจำเลยมีเจตนานำเงินดังกล่าวออกนอกประเทศหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งจำเลยต่อสู้โดยนำสืบว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ได้ตรวจพบเงินในกระเป๋าเดินทางหรือรองเท้าของจำเลย แต่พบเงินดังกล่าวในกระเป๋าถือของจำเลยซึ่งจำเลยเตรียมมาเพื่อให้นายสุขเกษม ชายงามที่นัดไว้บนภัตตาคารชั้น 4 ของสนามบิน เพื่อให้นายสุขเกษมซื้อดราฟด์ และขออนุญาตนำเงินตราออกนอกประเทศ จำเลยไม่เจตนาจะนำเงินดังกล่าวออกนอกประเทศ เห็นว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นจำเลยนั้นเวลาประมาณ 8.15 นาฬิกา และจำเลยกำลังจะเดินเข้าไปในช่องทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกำหนดเวลาเครื่องบินออกเวลา 8.40 นาฬิกาข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีเหตุผลเชื่อได้เลย เพราะเวลาเหลือน้อยและทิศทางที่จำเลยกำลังเดินเข้าเป็นข่องทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ใช่ทางไปภัตตาคาร คงฟังได้ตามรูปการณ์ว่า จำเลยมีเจตนานำเงินตราที่ต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกประเทศ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าขณะนั้นจำเลยยังมีโอกาสที่จะไม่เดินทางออกไปนอกประเทศ การกระทำของจำเลยเป็นเพียงตระเตรียมการ ยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดนั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยรับบัตรที่นั่งผู้โดยสารแล้ว การกระทำของจำเลยก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเดินทางออกไปจากประเทศไทย และใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้นพ้นขั้นตระเตรียมไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นแล้ว เมื่อจำเลยขึ้นเครื่องบินแล้ว ก่อนเครื่องบินจะบินไปจำเลยก็ยังมีโอกาสลงจากเครื่องบินได้ การกระทำของจำเลยก็อยู่ในขั้นตระเตรียมการเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีชอบแล้ว แต่ที่กำหนดโทษมาศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินไป เพราะจำนวนเงินไม่มากนัก และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรรอการลงโทษให้จำเลย”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ ที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปีของกลางริบ จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละ 20 ของเงินของกลาง ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี.

Share