คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลที่อายุไม่ครบ 30 ปี(29ปี 6 เดือน) จดทะเบียนรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ แม้บุคคลนั้นจะมีชีวิตมาจนถึงแก่กรรมนับอายุได้เกิน 30 ปีแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันเพราะไม่ใช่กรณีที่กฎหมายให้สัตยาบันได้
เกี่ยวกับกำหนดอายุของบุคคลที่จะรับบุตรบุญธรรมนี้เป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจอนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การภายหลังวันชี้สองสถานแล้วได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่านางนันทาได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงอนุรีย์เป็นบุตรบุญธรรม บัดนี้นางนันทาได้ถึงแก่กรรมแล้วมีทรัพย์มรดกราคาประมาณ 78,600.26 บาท เด็กหญิงอนุรีย์มีสิทธิจะได้รับมรดก 1 ใน 3 ส่วนและขอแบ่งมรดกที่ดิน โฉนดที่ 10132 ตำบลสามเสนในอีก 1 ใน 3 ของราคาครึ่งหนึ่งจากที่ดินนั้น

จำเลยต่อสู้ว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นเป็นโมฆะ และต่อสู้อย่างอื่นอีกหลายประการ

หลังจากวันชี้สองสถานแล้วจำเลยร้องขอแก้ไขคำให้การว่า ขณะนางนันทาจดทะเบียนรับเด็กหญิงอนุรีย์เป็นบุตรบุญธรรม นางนันทาอายุไม่ครบ 30 ปี จึงเป็นโมฆะ โจทก์คัดค้านว่าไม่ควรอนุญาตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180

ศาลแพ่งเห็นว่า เรื่องอายุของบุคคลที่จะรับบุตรบุญธรรมนั้นเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อายุนางนันทายังขาดอีก6 เดือนจึงจะครบ 30 ปี การจดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนางนันทาเป็นโมฆะ เด็กหญิงอนุรีย์โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นบุตรบุญธรรมอันชอบด้วยกฎหมายของนางนันทาผู้ตาย ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาส่วนแบ่งมรดก พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแก้คำให้การภายหลังวันชี้สองสถาน เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 คดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลแพ่งไม่ควรสั่งอนุญาต และว่าการรับบุตรบุญธรรมเพียงทำไม่ถูกต้องครั้งหนึ่ง ต่อมาทำถูกต้องย่อมไม่เป็นโมฆะ เมื่ออนุมานได้ว่าให้สัตยาบันแล้ว ควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 กำหนดว่า “บุคคลผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีจะรับบุคคลผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้” ที่กฎหมายกำหนดอายุบุคคลผู้จะรับบุตรบุญธรรมไว้เช่นนี้ เพราะถือว่าบุคคลผู้มีอายุครบ 30 ปีขึ้นไปย่อมมีความรู้สึกผิดชอบพอในการที่จะรับผู้ที่ไม่ใช่สายโลหิตของตนเข้ามามีสิทธิเท่าเทียมกับบุตรซึ่งกำเนิดในครอบครัวแห่งวงศ์สกุลของตน กฎหมายจึงคุ้มครองป้องกันบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดอายุผู้รับบุตรบุญธรรมไว้ตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปเช่นนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนข้อที่อ้างว่านางนันทาได้มีชีวิตมาจนถึงแก่กรรมเกิน 30 ปีเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันอยู่ในตัวนั้นก็เห็นว่า เมื่อการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเป็นโมฆะแล้วการนั้นก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 134

พิพากษายืน

Share