แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาใช้สถานีบริการขายน้ำมันของบริษัท อ. ในสัญญาดังกล่าวระบุไว้ว่าในกรณีทรัพย์สินของบริษัท ฯ ได้รับความเสียหายเนื่องจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ลูกจ้างของโจทก์หรือบุคคลอื่น โจทก์ต้องรับผิดชอบออกค่าซ่อมแซมหรือชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามสัญญาข้อนี้เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแก่สถานีบริการดังกล่าว บริษัทฯ ได้จัดการซ่อมและโจทก์ได้ออกเงินค่าซ่อมให้แก่บริษัท ฯ ไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับผิดในความเสียหายนั้นให้ชำระเงินที่จ่ายไปแล้วนั้นได้
ทุนทรัพย์ที่จะถือเป็นหลักว่าฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั่นต้องถือตามทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมาในศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลงที่อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยโจทก์ได้เช่าสถานีบริการจากบริษัทเอโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๘ ลูกจ้างของจำเลยขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างได้ขับรถบรรทุกพ่วง บรรทุกรถแทรกเตอร์เข้าไปเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการดังกล่าวของโจทก์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้หลังคารถแทรกเตอร์ซึ่งบรรทุกอยู่บนรถพ่วงของจำเลยเฉี่ยวหลังคาปั๊มน้ำมัน ทำให้หลังคา เสา และตัวปั๊มน้ำมันเสียหาย บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทยจำกัด ได้จัดการซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวสิ้นค่าใช้จ่ายไป ๒๒,๘๐๐ บาท ตามสัญญาเช่าข้อ ๕ โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนนี้ โจทก์จึงได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวนี้ และการที่ปั๊มน้ำมันของโจทก์เสียหายทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการขายน้ำมันระหว่างหยุดซ่อมแซม กำไรสุทธิอย่างน้อยวันละ ๕๐๐ บาท เป็นเวลา ๙๓ วัน เป็นเงิน ๔๖,๕๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๙,๓๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกพ่วงตามฟ้องจริง แต่ผู้ขับรถบรรทุกดังกล่าวไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย หากแต่บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสถานีบริการเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง โจทก์ไม่เสียหายมากอย่างที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ใช้เวลาซ่อมไม่เกิน ๑๐ วัน ค่าซ่อมไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัทเอสโซ่ ฯ และไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๒๗,๖๐๐ บาท (ค่าซ่อม ๒๒,๖๐๐ บาท ค่าเสียหาย ๕,๐๐๐ บาท) พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยโจทก์ได้ทำสัญญาว่าด้วยการดำเนินการสถานีบริการกับบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ตามเอกสารหมาย จ. ๒ ครั้นวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๘ ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ขับรถยนต์บรรทุกพ่วงบรรทุกรถแทรกเตอร์ในทางการที่จ้างเข้าไปในบริเวณสถานีบริการดังกล่าวเพื่อเติมน้ำมัน แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของคนขับหลังคารถแทรกเตอร์ได้เฉี่ยวหลังคาสถานีบริการทำให้เสาหลังคาสถานีพังลงมาทับปั๊มหรือที่เติมน้ำมันเสียหาย บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ต้องเสียค่าซ่อมหลังคาสถานีปั๊มเป็นเงิน ๒๒,๘๐๐ บาท โจทก์ได้ชดใช้เงินจำนวนนี้ให้บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ตามสัญญาเอกสาร จ. ๒ ข้อ ๕ แล้ว
ประเด็นแรกที่ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ เป็นสัญญาให้โจทก์เป็นผู้บริการขายน้ำมันแทนบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนเมื่อเกิดการเสียหายขึ้น บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด เท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่โจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามสัญญาเอกสาร จ. ๒ ข้อ ๕ ปรากฏข้อความว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินของบริษัท (บริษัทเอสโซ่ ฯ) ได้รับความเสียหายเนื่องจากความจงใจหรือความประมาทเลินเล่อของผู้ดำเนินการ (โจทก์ ) หรือลูกจ้างของผู้ดำเนินการหรือบุคคลอื่น ผู้ดำเนินการต้องรับผิดชอบออกค่าซ่อมแซมหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่บริษัททันทีเมื่อทวงถาม” ฉะนั้น ตามสัญญาข้อ ๕ นี้ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแก่สถานีบริการที่โจทก์ดำเนินกิจการอยู่ตามสัญญาดังกล่าว บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ได้จัดการซ่อมและโจทก์ได้ออกเงินค่าซ่อมให้แก่บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทยจำกัด ไปเสร็จแล้ว เช่นนี้ โจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินจำนวนที่จ่ายไปแล้วได้ โจทก์จะเป็นตัวแทนของบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ด้วยหรือไม่ก็หาใช่เป็นข้อสำคัญไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เพียงใดนั้น โจทก์โต้แย้งในคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า ค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าทุนทรัพย์ที่จะถือเป็นหลักว่าฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องถือตามทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมาในศาลชั้นต้น คดีนี้ทุนทรัพย์กว่า ๕๐,๐๐๐ บาท แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษาต้องกันให้จำเลยชำระเงินแก่โจกท์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ก็ไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘
ส่วนจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดนั้น พิเคราะห์แล้วรูปคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าโจทก์มีกำไรจากการขายน้ำมันอย่างน้อยวันละ ๕๐๐ บาท การซ่อมอาคารสถานีบริการและตัวปั๊มจำเป็นจะต้องใช้เวลา น้ำมันเป็นวัตถุไวไฟเมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเชื่อมเหล็กอาจเกิดอัคคีภัยขึ้นได้ ที่โจทก์จำเป็นต้องหยุดขายน้ำมันจึงเห็นว่าเป็นการสมควร ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้ไปวันละ ๕๐๐ บาท โดยคิดให้ ๑๐ วันเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุแก้ไขเป็นอย่างอื่นฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน