แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องโดยมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารตึกแถวโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแทน แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างและควบคุมดูแลการปรับปรุงซ่อมแซมและเป็นผู้ออกแบบ เลือกวัสดุ เปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยจำเลยที่ 1 เอง นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับผิดในฐานะตัวการตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแล้ว ยังฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดในฐานะตัวแทนด้วย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 ตัวการมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนซึ่งมีความหมายว่าหากจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องด้วย จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดฐานะตัวการ คงฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างในฐานะตัวการ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 484,495 บาท แก่โจทก์พร้อมค่าปรับในอัตราวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 450,000 บาท
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 323,300 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราวันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 73/1 ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าว ตกลงค่าจ้างกันในราคา 684,120 บาท โดยแบ่งชำระค่าจ้างเป็น 5 งวด งวดที่ 1 ชำระภายใน 5 วัน นับแต่วันทำสัญญา เป็นเงิน 135,000 บาท งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 10 มกราคม 2548 เป็นเงิน 135,000 บาท งวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นเงิน 168,000 บาท งวดที่ 4 ชำระภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นเงิน 168,000 บาท และงวดที่ 5 ชำระภายในวันที่ 24 มีนาคม 2548 เป็นเงิน 78,120 บาท ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง หลังจากทำสัญญาโจทก์ได้เข้าไปดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารตามสัญญาโดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ควบคุมการก่อสร้างและตรวจสอบงานที่ว่าจ้าง ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ถึงโจทก์ให้โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2548 หากครบกำหนดให้โจทก์หยุดดำเนินการและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคาร โจทก์จึงหยุดทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องโดยมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารตึกแถวโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแทน แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างและควบคุมดูแลการปรับปรุงซ่อมแซมและเป็นผู้ออกแบบ เลือกวัสดุ เปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยจำเลยที่ 1 เอง นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับผิดในฐานะตัวการตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแล้ว ยังฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดในฐานะตัวแทนด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 ตัวการมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนซึ่งมีความหมายว่าหากจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องด้วย จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดฐานะตัวการ คงฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างในฐานะตัวการ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 142 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างมากกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ